วัฒนธรรมการใช้วาจาในทัศนะกุรอาน


กุรอานคือพระวจนะแห่งพระผู้เป็นเจ้า คือปาฏิหาริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของท่านศาสดาองค์สุดท้ายและเป็นเครื่องชี้นำมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบที่สุดจนถึงวันสิ้นโลก กุรอานเป็นคัมภีร์ที่ถูกประทานลงมาโดยมีเป้าหมายที่จะชี้นำมนุษย์ให้ออกจากความมืดแห่งวัตถุไปสู่แสงสว่างแห่งจิตวิญญาน
กุรอานนำเสนอตัวเองว่าใช้วาจาและคำสนทนาได้ดีที่สุด จากประเด็นนี้เองจึงทำให้เราต้องเข้าหาอัลกุรอานเพื่อที่จะได้เรียนรู้ถึงวัฒนธรรมของการใช้วาจา และจำเป็นต้องเข้าหา “อะห์ลุซซิก”ซึ่งหมายถึงบรรดาอะห์ลุลบัยต์สำหรับการจะเข้าใจถึงวัฒนธรรมดังกล่าว เพราะอัลกุรอานเองกล่าวว่า “จงถามบรรดาอะห์ลุซซิก หากพวกเจ้าไม่รู้” ดังนั้นจึงจะต้องนำสองสิ่งนี้มาใช้เป็นบันทัดฐานในการพิจารณา
ค้นหาความหมาย
ก่อนที่เราจะไปพูดถึงประเด็นเกี่ยวกับวัฒนธรรมการสนทนาในทัศนะกุรอานเราต้องมาเข้าใจประเด็นเหล่านี้เสียก่อน
วัฒนธรรม : คำว่าวัฒนธรรมมีการให้คำนิยามไว้มากมาย แต่คำนิยามที่เราจะกล่าวต่อไปนี้ถือเป็นคำนิยาม ที่ให้ความหมายครอบคลุมที่สุด ซึ่งก็คือ : ความรู้และประสบการณ์ที่นำไปสู่การพัฒนาทางสติปัญญา,ความรู้สึกและจรรยามารยาทที่ทรงคุณค่า และทำให้มนุษย์ไปสู่ความสมบูรณ์แบบ
การใช้วาจา:หมายถึงการพูด ,การสนทนา
ความสำคัญของการใช้วาจา :ลิ้นเป็นความโปรดปรานที่พระเจ้าทรงประทานให้แก่มนุษย์ อัลลอฮ์ทรงกล่าวถึงความโปรดปรานดังกล่าวไว้ในซูเราะฮ์ บะลัด อายะฮ์ 8-9 ว่า : เรามิได้ประทานดวงตาทั้งสองข้างให้แก่เขาดอกหรือ * ,ลิ้นและริมฝีปากทั้งสองด้วย ?
ลิ้นเป็นความโปรดปรานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของพระเจ้า ลิ้นมีหน้าที่สำคัญนั่นก็คือ ใช้สนทนา และใช้สื่อสาร เกี่ยวกับประเด็นนี้กุรอาน หลังจากที่กล่าวถึงการสร้างมนุษย์ ยังกล่าวถึงความโปรดปรานอีกอย่างที่พระองค์ทรงประทานให้แก่มนุษย์นั่นก็คือ การพูด และความสามารถในการสนทนา พระองค์ทรงตรัสว่า : พระผู้ทรงกรุณาปรานี *พระองค์ทรงสอนอัลกุรอาน *พระองค์ทรงสร้างมนุษย์ *พระองค์ทรงสอนเขาให้เปล่งเสียงพูด(ซูเราะฮ์อัรเราะห์มาน/1-4)
ผลเสียของการพูด : เราทราบแล้วว่า ความสามารถในการพูดและการสนทนาเป็นความโปรดปรานที่อัลลอฮ์ทรงประทานให้แก่มนุษย์ และสิ่งนี้เป็นคุณลักษณะพิเศษที่มนุษย์มีเหนือสรรพสิ่งทั้งหลาย แต่คำพูดก็สามารถนำมนุษย์ไปสู่ความอันตรายและความเสื่อมเสียไม่ว่าจะเป็นด้านวัตถุหรือจิตวิญญาณก็ตาม ด้วยเหตุนี้เองเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคนที่จะต้องระมัดระวังคำพูดของตนเอง ไม่ให้พูดในสิ่งที่จะทำให้เกิดความเดือดร้อนทั้งกับตนเองและผู้อื่น มีโองการมากมายกล่าวถึงเรื่องดังกล่าวรวมทั้งมีรายงานบางส่วนของบรรดามะอ์ซูมเกล่าวถึงประเด็นนี้ไว้ด้วย เช่น ฮะดิษของท่านอิมามอาลี(อ) ที่กล่าวว่า : “ความเสื่อมเสีย และความเสียใจ(ที่จะมาประสบแก่มนุษย์) อยู่ที่ลิ้นของมนุษย์เอง”

คำพูดที่ดี เป็นอย่างไร ?
มีคำถามว่า ทุกวาจาที่ถูกกล่าวออกมาเป็นคำพูดที่มีคุณค่าและน่าเชื่อถือได้หรือไม่ ? แน่นอนคำตอบนั้นก็คือไม่ไช่ เพราะมีคำพูดบางคำพูดไม่ไช่ว่าจะไม่มีประโยชน์เพียงอย่างเดียว แต่กลับเป็นคำพูดที่ให้เกิด ความเสื่อมเสีย , สร้างความแตกแยก , สร้างการนองเลือด และสิ่งอื่นๆตามมาอีกด้วย
กรุอานได้วางบันทัดฐานของวาจาที่มีคุณค่าไว้ ซึ่งเราจะกล่าวถึงทีละประเด็นดังต่อไปนี้
1. คำพูดที่ออกมาจากใช้สติปัญญาและการคิดใคร่ครวญ
การใช้สติปัญญาและการคิดใคร่ครวญเป็นหลักเกณฑ์สำคัญของอิสลามและเป็นบันทัดฐานสำคัญในเรื่องความเชื่อ ,การกระทำ และการพูด ในทัศนะอิสลามมนุษย์ย่อมไม่เชื่อในสิ่งที่สติปัญญาเห็นว่าเป็นสิ่งผิด และไม่ให้มนุษย์ประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่สติปัญญาเห็นว่าไม่ดี และไม่ให้พูดในสิ่งที่สติปัญญามองว่าไม่มีคุณค่า
ในรายงานฮะดิษจากบรรดาอิมามมะอ์ซูม บ่งชี้ว่า คำพูดที่มีคุณค่าคือคำพูดที่ออกมาจากการคิดใคร่ครวญ อิมามอาลี(อ)กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า : “การคิดใคร่ครวญในสิ่งที่จะพูดเป็นสิ่งที่จะขจัดความผิดพลาดได้”
และยังกล่าวอีกว่า : “ใครก็ตามที่คิดใคร่ครวญในคำพูดของตนเองเสียก่อน ความผิดของเขาจะน้อยลง”
จากการพิจารณาโองการและรายงานฮะดิษข้างต้นจะเห็นว่า คำพูดที่มีคุณค่าหรือคำพูดที่ดีนั้นต้องมาพร้อมการใช้สติปัญญาและการคิดใคร่ครวญ
2.คำพูดที่อยู่บนพื้นฐานของความรู้
ในทัศนะกุรอานเห็นว่าหนึ่งในบันทัดฐานที่มีคุณค่าสำหรับชีวิตของมนุษย์โดยเฉพาะในเรื่องการพูด คือความรู้และการมีสติ จากตรงนี้เองกุรอานมีคำสั่งห้ามไม่ให้มนุษย์เข้านมัสการพระเจ้าในขณะที่มึนเมา กุรอานกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า : “ผู้ศรัทธาทั้งหลาย! จงอย่าเข้าใกล้การละหมาด ขณะที่พวกเจ้ากำลังมึนเมาอยู่ * จนกว่าพวกเจ้าจะรู้ สิ่งที่พวกเจ้าพูด” (ซูเราะห์นิสาอ์/43)
3.คำพูดที่มาจากผู้พูดที่ปฏิบัติดี
ความประพฤติของผู้พูดเป็นอีกหนึ่งในบรรทัดฐานของคำพูดที่มีคุณค่า อัลลอฮ์ทรงมีคำสั่งห้ามสำหรับคำพูดที่ผู้พูดไม่ปฏิบัติตามนั้น พร้อมทั้งตำหนิในเรื่องดังกล่าวอย่างรุนแรงโดยกล่าวว่า :โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย ทำไมพวกเจ้าจึงกล้าพูดในสิ่งที่พวกเจ้าไม่ปฏิบัติ* เป็นที่น่าเกลียดยิ่งณ.อัลลอฮ์ การที่พวกเจ้าพูดในสิ่งที่พวกเจ้าไม่ปฏิบัติ(ซูเราะห์ศอฟ/2-3)
4.คำพูดที่หนักแน่นและมีเหตุผล
ในกุรอานอัลลอฮ์ทรงเรียกร้องให้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลายพูดในสิ่งที่เป็นสัจธรรม และยังเรียกร้องให้ผู้ศรัทธาพูดด้วยเหตุผล พระองค์ทรงกล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า : โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย ! จงยำเกรงอัลลอฮฺ * และจงกล่าวถ้อยคำที่มั่นคงหนักแน่น(คำพูดที่มีเหตุผล) เถิด (ซูเราะห์อะห์ซาบ/70)
ท่านอัลลามะฮ์ ฏอบาฏอบาอีย์ กล่าวถึงความหมายของคำว่า قولا سدیدا หมายถึงคำพูดที่สอดคล้องกับความเป็นจริงไม่ใช่คำพูดที่ไร้เหตุผล และไม่ใช่คำพูดอย่าง เช่น พูดยุแยงให้ทะเลาะกัน หรือคำพูดที่โกหก ดังนั้นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ศรัทธาจะต้องมั่นใจในสิ่งที่พูดออกไป และต้องตรวจสอบคำพูดของตัวเองเสียก่อนด้วยว่า เป็นคำพูดที่สร้างความเสื่อมเสียหรือไม่
5. คำพูดที่มีมารยาท
ในทัศนะกุรอานคำพูดที่มีคุณค่าคือคำพูดที่แฝงด้วยมารยาทอันงดงาม บางครั้งคำพูดถึงแม้ว่าโดยตัวของมันเองแล้วจะเป็นคำพูดที่มีคุณค่าแต่ถ้าหากถูกกล่าวออกมาแบบไร้มารยาทก็อาจจะเป็นเหตุทำให้คำพูดนั้นเป็นคำพูดที่ไร้คุณค่าได้ เกี่ยวกับประเด็นนี้กุรอานนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับท่านศาสดามูซา และท่านศาสดาฮารูน ที่อัลลอฮ์ทรงสั่งใช้ท่านทั้งสองไปพบกับฟิรอูน และให้ทั้งสองเรียกร้องฟิรอูนไปสู่การเคารพภักดีพระเจ้าองค์เดียว โดยทรงตรัสว่า : แล้วเจ้าทั้งสองจงพูดกับเขาด้วยคำพูดที่อ่อนโยน บางทีเขาอาจจะรำลึกขึ้นมา หรือเกิดความยำเกรง (ฏอฮา/44)
ท่านอัลลามะฮ์ฏอบาฏอบาอีย์ กล่าวถึงความหมายของคำว่า ادب ว่า คำว่า อะดับ หมายถึงรูปแบบการปฏิบัติที่สวยงามและน่ายกย่อง การกระทำทุกสิ่งไม่ว่าจะเป็นคำสั่งของศาสนาหรือการกระทำอื่นจะถูกนำเข้าไปสู่รูปแบบดังกล่าวทั้งสิ้น หรืออีกในหนึ่งกล่าวได้ว่า อะดับคือ คุณสมบัติที่สวยงามของทุกๆการกระทำ

1 ความคิดเห็น:

ผู้สนับสนุน