ท่านนบี อาดัม (อ.)ในมุมมองของอัล-กุรอาน

เรื่องราวของนบีอาดัม (อ.) และการถูกขับไล่ออกจากสรวงสวรรค์ และการปกครองแผ่นดินนั้น ได้ถูกยกมาใน 7 ซูเราะฮ์ : บะเกาะเราะฮ์, อะอ์รอฟ, ฮิจร์, อิสรออ์, กะฮ์ฟ, ฏอฮา และศอด และในแต่ซูเราะฮ์ได้นำเสนอแง่มุมชีวิตของท่านไว้อย่างน่าสนใจ
ใน 7 แง่มุมที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ เป็นมุมมองที่มีความต่อเนื่องกันนั้น เมื่อมีการกล่าวประโยคที่ซ้ำกัน นั้นก็เพื่อต้องการเชื่อมมุมมองต่าง ๆ ให้เข้ากัน และเมื่อมีจุดแตกต่างกัน นั้นก็เพื่อที่จะกล่าวถึงประเด็น ๆ หนึ่ง ซึ่งเมื่อนำมาเชื่อต่อกันแล้ว จะได้เนื้อหาที่เป็นหนึ่งเดียวกัน
1. เรื่องราวท่านนบีอาดัม (อ.) ในซูเราะฮ์บะเกาะเราะฮ์
“และจงรำลึกถึงขณะที่พระเจ้าของเจ้าได้ตรัสแก่มลาอิกะฮ์ว่า แท้จริงข้าจะให้มีผู้แทนคนหนึ่งในพิภพ มลาอิกะฮ์ได้ทูลขึ้นว่า พระองค์จะทรงให้มีขึ้นในพิภพซึ่งผู้ที่บ่อนทำลาย และก่อการนองเลือดในพิภพกระนั้นหรือ ทั้ง ๆ ที่พวกข้าพระองค์ให้ความบริสุทธิ์ พร้อมด้วยการสรรเสริญพระองค์ และเทิดทูนความบริสุทธิ์ในพระองค์ พระองค์ตรัสว่า แท้จริงข้ารู้ยิ่งในสิ่งที่พวกเจ้าไม่รู้
และพระองค์ได้ทรงสอนบรรดานามของทั้งปวงให้แก่อาดัม ภายหลังได้ทรงแสดงสิ่งเหล่านั้นแก่มลาอิกะฮ์ แล้วตรัสว่า จงบอกบรรดาซื่อของสิ่งเหล่านี้แก่ข้า หากพวกเจ้าเป็นผู้พูดจริง
พวกเขา (บรรดามลาอิกะฮ์) ทูลว่ามหาบริสุทธิ์พระองค์ พวกข้าพระองค์ไม่มีความรู้ใด ๆ นอกจากสิ่งที่พระองค์ได้ทรงสอนพวกข้าพระองค์เท่านั้น แท้จริงพระองค์คือผู้ทรงรอบรู้ ผู้ทรงปรีชาญาณ
พระองค์ตรัสว่า โอ้อาดัม จงบอกบรรดาชื่อของสิ่งเหล่านั้นแก่พวกเขาที (บรรดามลาอิกะฮ์) ครั้นเมื่ออาดัมได้บอกชื่อของสิ่งเหล่านั้นแก่พวกเขาแล้ว พระองค์จึงตรัสว่า ข้ามิได้บอกแก่พวกเจ้าดอกหรือว่า แท้จริงข้าเป็นผู้รู้ยิ่งซึ่งความเร้นลับแห่งชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดิน และเป็นผู้รู้ยิ่งในสิ่งที่พวกเจ้าเปิดเผยและสิ่งที่พวกเจ้าปกปิด
และจงรำลึก ขณะที่เราได้กล่าวแก่มลาอีกะฮ์ว่า พวกเจ้าจงซูญูด แก่อาดัมเถิดแล้วพวกเขาก็ซูญูดกัน นอกจากอิบลีส โดยที่มันไม่ยอมซูญูด และแสดงโอหัง และมันจึงได้กลายเป็นผู้สิ้นสภาพแห่งการศรัทธา (กาฟีร์)
และเราได้กล่าว่า โอ้ อาดัม เจ้าและคู่ครองของเจ้าจงพำนักอยู่ในสวนสวรรค์นั้นเถิด และเจ้าทั้งสองจงบริโภคจากสวนนั้นอย่างที่เจ้าทั้งสองปรารถนาและอย่าเข้าใกล้ต้นไม้ต้นนี้ (มิเช่นนั้นแล้ว) เจ้าทั้งสองจะกลายเป็นผู้อธรรมแก่ตัวเอง
ภายหลังชัยฏอนได้ทำให้ทั้งสองนั้นพลั้งพลาดไปอัน เนื่องจากต้นไม้ต้นนั้น แล้วได้ทำให้ทั้งสองออกจากที่ๆเคยพำนักอยู่ และเราได้กล่าวว่าพวกเจ้าจงออกไป โดยที่บางส่วนของพวกเจ้าต่างเป็นศัตรูต่อกัน และ สำหรับพวกเจ้าในผืนแผ่นดินนั้น มีที่พำนักและมีสิ่งอำนวยประโยชน์จนถึงระยะเวลาหนึ่ง
ภายหลังอาดัมได้เรียนรู้คำวิงวอนจากพระเจ้าของเขา แล้วพระองค์อภัยโทษแก่เขา แท้จริงพระองค์คือผู้ทรงอภัยโทษ ผู้ทรงเมตตาเสมอ
เราได้กล่าวว่า พวกเจ้าจงออกไปจากสวนนั้นทั้งหมด แล้วหากมีทางนำจากข้ามายังพวกเจ้าแล้ว ผู้ใดที่ปฏิบัติตามทางนำของข้า ก็ไม่มีความกลัวใด ๆสำหรับพวกเขา และทั้งพวกเขาก็จะไม่เสียใจ
และบรรดาผู้ที่ปฏิเสธศรัทธา และไม่เชื่อบรรดาโองการของเรานั้น ชนเหล่านี้คืชาวนรกโดยที่พวกเขาจะอยู่ในนรกนั้นตลอดกาล” (อัลบะเกาะเราะฮ์ / 30-39)
ดังที่ได้เห็นในอายะฮ์เหล่านี้ ในซูเราะฮ์บะเกาะเราะฮ์ ได้กล่าวถึงการสร้างท่านนบีอาดัมจนกระทั้งหลังจากที่ได้ออกจากสวรรค์แล้วอย่างคร่าว ๆ และสิ่งที่ถูกเน้นขึ้นมาก็คือการสนทนาของพระองค์อัลลอฮ์กับบรรดามะลาอิกะฮ์เกี่ยวกับประเด็นการสร้างท่านนบีอาดัม พร้อมกับเรื่องการสอนนามต่างๆให้กับท่านนบีอาดัมจนถึงเรื่องที่ท่านได้ประสบ
2.เรื่องราวท่านนบีอาดัม (อ.) ในซูเราะฮ์อะอ์รอฟ
ในซูเราะฮ์นี้ได้กล่าวถึงอีกมุมหนึ่งของชีวิตท่านนบีอาดัม (อ.) และได้กล่าวถึงเจตนาของชัยฏอนในการฝ่าฝืนพระองค์อัลลอฮ์อีกทั้งเลห์กลที่ได้ใช้เพื่อหลอกลวงมนุษย์อย่างกระจ่างชัดเจนมากขึ้น ดังที่เราได้อ่านในโองการต่าง ๆ ในซูเราะฮ์นี้ว่า :
“พระองค์ตรัสว่า อะไรที่ขัดขวางเจ้ามิให้เจ้าซูญูด ขณะที่ข้าได้ใช้เจ้า มันกล่าวว่า ข้าพระองค์ดีกว่าเขา โดยที่พระองค์สร้างข้าพระองค์จากไฟ และได้สร้างเขาจากดิน
พระองค์ตรัสว่า จงลงไปจากสวนนั้นเสีย ไม่สมควรแก่เจ้าที่จะทำโอหังในนั้น จงออกไปให้พ้น แท้จริงเจ้านั้นอยู่ในหมู่ผู้ต่ำต้อย
มันกล่าวว่า โปรดผ่อนผันข้าพระองค์จนถึงวันที่พวกเขาถูกให้ฟื้นคืนชีพด้วยเถิด
พระองค์ตรัสว่า แท้จริงเจ้าอยู่ในหมู่ผู้ที่ได้รับการผ่อนผัน
มันกล่าวว่า ด้วยเหตุที่พระองค์ได้ทรงให้ข้าพระองค์ตกอยู่ในความหลงผิด แน่นอนข้าพระองค์จะนั่งขวางกั้นพวกเขา ซึ่งทางอันเที่ยงตรงของพระองค์
แล้วข้าพระองค์จะมายังพวกเขา จากเบื้องหน้าของพวกเขา และจากเบื้องหลังของพวกเขา และจากเบื้องขวาของพวกเขา และจากเบื้องซายของพวกเขา และพระองค์จะไม่พบว่าส่วนมากของพวกเขานั้น เป็นผู้ขอบคุณ
พระองค์ตรัสว่า จงออกจากสวนนั้นไปในฐานะผู้ถูกติเตียน และถูกขับไล่ ข้าสาบานว่าผู้ใดในหมู่พวกเขาที่ปฏิบัติตามเจ้า ข้าจะทำให้นรกญะฮันนัมเต็มไปด้วยพวกเจ้าทั้งหมด
และพระองค์ตรัสว่า อาดัมเอ๋ย ทั้งเจ้าและคู่ครองของเจ้าจงอยู่ในสวนสวรรค์นั้นเถิด แล้วจงบริโภค ณ ที่ใดก็ได้ที่เจ้าทั้งสองประสงค์ และเจ้าทั้งสองอย่าเข้าใกล้ต้นไม้ต้นนี้ (มิเช่นนั้นแล้ว) เจ้าทั้งสองจะอยู่ในหมู่ผู้ที่อธรรม
แล้วชัยฏอนก็ได้กระซิบกระซาบแก่ทั้งสองนั้น เพื่อที่จะทำให้ทั้งสองเผยสิ่งที่ถูกปิดบังแก่เขาทั้งสองไว้ อันได้แก่สิ่งอันพึงละอายของเขาทั้งสอง และมันได้กล่าวว่าพระเจ้าของท่านทั้งสองมิได้ทรงหวงห้ามท่านทั้งสอง ซึ่งต้นไม้ต้นนี้ (เพราะอื่นใด) นอกจากการที่ท่านทั้งสองจะกลายเป็นมลาอิกะฮ์ หรือไม่ก็กลายเป็นผู้อยู่ในหมู่ผู้ที่ยั่งยืนอยู่ตลอดกาลเท่านั้น
และมันได้สาบานแก่ทั้งสองนั้นว่าแท้จริงฉันอยู่ในพวกที่แนะนำ
แล้วมันก็ทำให้ทั้งสองนั้นตกอยู่ในสิ่งที่มันต้องการ อันเนื่องจากการหลอกลวง ครั้นเมื่อทั้งสองได้ลิ้มรสต้นไม้ต้นนั้นแล้ว สิ่งอันพึงอายของเขาทั้งสองก็เผยให้ประจักษ์แก่เขาทั้งสองและเขาทั้งสองก็เริ่มปกปิดบน (ส่วนที่น่าละอาย) ของเขาทั้งสองจากใบไม้แห่งสวนสวรรค์นั้น และพระเจ้าของเขาทั้งสองจึงได้เรียกเขาทั้งสอง (โดยกล่าวว่า) ข้ามิได้ห้ามเจ้าทั้งสองเกี่ยวกับต้นไม้นั้นดอกหรือ และข้ามิได้กล่าวแก่เจ้าทั้งสองดอกหรือว่า แท้จริงชัยฏอนนั้นคือศัตรูที่ชัดแจ้งแก่เจ้าทั้งสอง” (อัลอะอ์รอฟ / 12-22)
3. เรื่องราวท่านนบีอาดัม (อ.) ในซูเราะฮ์ฮิจร์
ในซูเราะฮ์นี้ ได้เน้นถึงวัถุดิบที่นำมาสร้างมนุษย์ ,ญินและชัยฏอนมากขึ้น ดังที่ได้อ่านกันว่า :
“และโดยแน่นอน เราได้สร้างมนุษย์จากดินแห้ง จากดินดำเป็นตมและญินนั้น เราได้สร้างมันมาก่อน จากไฟของลมร้อน” (อัลฮิจร์/26-27)
4. เรื่องราวท่านนบีอาดัม (อ.) ในซูเราะฮ์อิสรออ์
ในซูเราะฮ์นี้ได้กล่าวถึงกลวิธีต่าง ๆ ที่ชัยฏอนพยายามเพื่อหลอกลวงมนุษย์ ดังที่ได้อ่านกันว่า
“และเจ้าจงยั่วยวนผู้ที่เจ้าสามารถทำให้เขาหลงในหมู่พวกเขาด้วยเสียงของเจ้า และชักชวนพวกเขาให้เห็นพ้องด้วย ด้วยม้าของเจ้าและด้วยเท้าของเจ้า และจงร่วมกับพวกเขาในทรัพย์สินและลูกหลาน และจงสัญญากับพวกเขา และชัยฏอนมิได้ให้สัญญาใด ๆ แก่พวกเขา เว้นแต่เป็นการหลอกลวงเท่านั้น (อิสรออ์ / 64)
5. มุมมองของเรื่องราวท่านนบีอาดัม (อ.) ในซูเราะฮ์กะฮฟ์
ในซูเราะฮ์นี้ได้กล่าวถึงตอนต่อไปของเรื่องราวท่านนบีอาดัม (อ.) และได้กล่าวถึงลูกหลานของท่านที่ตกเป็นทาสชัยฏอน และได้เตือนความโกรธแค้นของชัยฏอนที่มีต่อมวลมนุษย์ ดังที่ได้กล่าวในซูเราะฮ์นี้ว่า
“และเมื่อเราได้กล่าวแก่มะลาอิกะฮ์ว่า จงสุญูดคารวะต่ออาดัม พวกเขาก็แสดงคารวะเว้นแต่อิบลีส มันอยู่ในจำพวกญิน ดังนั้น มันจึงฝ่าฝืนคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้าของมัน แล้วพวกเจ้าจงยึดเอามันและวงศ์วานของมัน เป็นผู้คุ้มครองอื่นจากข้ากระนั้นหรือ ทั้ง ๆ ที่พวกมันเป็นศัตรูกับพวกเจ้า มันช่างชั่วช้าแท้ ๆ ในการแลกเปลี่ยนสำหรับพวกอธรรม” (กะฮฟ์ / 50)
6.มุมมองของเรื่องราวท่านนบีอาดัม (อ.) ในซูเราะฮ์ฏอฮา
ในซเราะฮ์นี้ได้กล่าวถึงคุณสมบัติของสวรรค์เริ่มแรก ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของท่านนบีอาดัม (อ.) ดังที่ได้กล่าวว่า
“แล้วเราได้กล่าวว่า โอ้อาดัมเอ๋ย แท้จริงนี่คือศัตรูของเจ้าและภริยาของเจ้า ดังนั้นอย่าให้มันทำให้เจ้าทั้งสองออกจากสวนสวรรค์ แล้วเจ้าจะได้รับความลำบากแท้จริงในสวนสวรรค์นั้น เจ้าจะไม่หิวและจะไม่ต้องเปลือยกายและแท้จริงในสวนสวรรค์นั้น เจ้าจะไม่กระหายน้ำ และจะไม่ตากแดด” (ฏอฮา / 117-119)
7.มุมมองของเรื่องราวท่านนบีอาดัม (อ.) ในซูเราะฮ์ฏอฮา
ในซูเราะฮ์นี้ได้มองชีวิตของท่านนบีอาดัม (อ.) อีกมุมมองหนึ่ง ซึ่งได้เตือนลูกหลานของนบีอาดัมจากภัยอันตรายของการหลอกล่อของชัยฏอนมารร้ายที่จะไม่มีวันสิ้นสุด
“จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) นี่คือข่าวสำคัญอันยิ่งใหญ่ที่พวกท่านผินหลังให้กับมัน
ฉันไม่เคยรู้มาก่อนเลยในเรื่องของมะลาอิกะฮ์ เมื่อพวกเขาโต้เถียงกัน
(เพราะ) มิได้มีวะฮีย์แก่ฉัน นอกจากว่าฉันเป็นเพียง ผู้ตักเตือนอันชัดแจ้งเท่านั้น
จงรำลึกถึงขณะที่พระเจ้าตรัส แก่มะลาอิกะฮ์ว่า แท้จริงข้าจะสร้างมนุษย์คนหนึ่งจากดิน
ดังนั้นเมื่อข้าได้ทำให้เขามีรูปร่างสมส่วนและได้เป่าวิญญาณจากข้าเข้าไปในตัวเขา ฉนั้นพวกเจ้าจงก้มลงสุญูดต่อเขา
แล้วมะลาอิกะฮ์ทั้งมวลก็ได้ก้มลงสุญูด
นอกจากอิบลีส มันเย่อหยิ่งจองหอง และมันอยู่ในหมู่ผู้ปฏิเสธศรัทธา
พระองค์ตรัสว่า อิบลีสเอ๋ย อะไรเล่าที่ขัดขวางเจ้ามิให้เจ้าสุญูดต่อสิ่งที่ข้าได้สร้างด้ว
มือทั้งสองของข้า เจ้าเย่อหยิ่งจองหองนักหรือ หรือว่าเจ้าอยู่ในหมู่ผู้สูงส่ง
มันกล่าวว่า ข้าพระองค์ดีกว่าเขา พระองค์ทรงสร้างข้าพระองค์จากไฟ และทรงสร้างเขาจากดิน
พระองค์ตรัสว่า ดังนั้นเจ้าจงออกไปจากที่นี่ เพราะแท้จริงเจ้าเป็นผู้ถูกขับไล่
และแท้จริงการสาปแช่งของข้าจงประสบแก่เจ้าจนกระทั่งวันแห่งการตอบแทน
มันกล่าว่า โอ้ พระเจ้าของข้าพระองค์ได้โปรดประวิงเวลาให้แก่ข้าพระองค์จนถึงวันฟื้นคืนชีพด้วยเถิด
พระองค์ตรัสว่า ดังนั้น แท้จริงเจ้าอยู่ในหมู่ผู้ถูกประวิงเวลา
จนกระทั่งถึงวันแห่งเวลาที่ถูกกำหนดไว้แล้ว
มันกล่าวว่า ดังนั้นด้วยพระอำนาจของพระองค์ท่าน แน่นอนข้าพระองค์ก็จะทำให้พวกเขาทั้งหมดหลงผิด เว้นแต่ปวงบ่าวของพระองค์ในหมู่พวกเขาที่มีใจบริสุทธิ์เท่านั้น
พระองค์ตรัสว่า ดังนั้นมันเป็นความจริงและข้าจะกล่าวแต่ความจริงเท่านั้น
แน่นอน ข้าจะให้นรกนั้นเต็มไปด้วยพวกเจ้า และจากผู้ที่เชื่อฟังเจ้าในหมู่พวกเขาทั้งหมด” (ศอด / 67-85)
มุมมองโดยรวมจาก 7 ซูเราะฮ์
ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ในแต่ละมุมมองได้กล่าวถึงส่วนหนึ่งของชีวิตท่านนบีอาดัม (อ.) แต่เมื่อได้เรียบเรียงเนื้อหาทั้งหมดแล้ว เรื่องราวทั้งหมดจะนำพาไปในทิศทางเดียวกัน จากเหตุการณ์ที่ได้กล่าวไปทั้งหมดสามารถเรียบเรียงได้ดังนี้
1. กล่าวถึงข่าวที่พระองค์จะทรงสร้างสิ่งแปลกใหม่ นามว่า “อาดัม (อ.)” ขึ้นมา (ซูเราะฮ์บะเกาะเราะฮ์ )
2. แนะนำวัตถุดิบที่ได้นำมาสร้างนบีอาดัม (อ.)นี้ (ซูเราะฮ์ฮิจร์ และ ศอด)
3. การเชิญชวนของพระองค์อัลลอฮ์ให้เหล่าบรรดามะลาอิกะฮ์ทำการสุญูดสิ่งถูกสร้างนี้ (ใน 7 ซูเราะฮ์)
4. การปฏิเสธอิบลิสในการสุญูดและการยกเหตุผลของมัน (ใน 7 ซูเราะฮ์)
5. การถูกขับไล่ของอิบลีส และการประกาศศึกของมันเพื่อการหลอกลวงมนุษย์ (ใน 7 ซูเราะฮ์)
6. การเตือนภัยอันตรายของอิบลิสแก่อาดัม (อ.) จากพระองค์อัลลอฮ์ (ซูเราะฮ์ บะเกาะเราะฮ์ , อะอ์รอฟ และฏอฮา)
7. การสั่งห้ามมิให้อาดัมและเฮาวาเข้าใกล้ต้นไม้ในสวรรค์ (ซูเราะฮ์บะเกาะเราะฮ์ และอะอ์รอฟ)
8. อาดัม (อ.) และเฮาวาได้หลงกลอิบลีส และได้กินผลไม้จากต้นไม้ต้องห้าม (ซูเราะฮ์อะอ์รอฟ และฏอฮา)
9. การตำหนิติเตียนอาดัมและเฮาวาจากพระองค์อัลลอฮ์ การสำนึกผิดของพวกเขา และการถูกตอบรับการขออภัยโทษของพวกเขา (ซูเราะฮ์บะเกาะเราะฮ์ , อะอ์รอฟ และฏอฮา)
10. อาดัมและเฮาวาได้ถูกขับไล่ออกจากสวรรค์ และการย้ายมาอยู่บนโลกจกกว่าจะถึงวันสิ้นโลก (ซูเราะฮ์ บะเกาะเราะฮ์ , อะอ์รอฟ และฏอฮา)
สิบช่วงระยะนี้ถือว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญในเรื่องราวของนบีอาดัม (อ.) ที่ถูกกล่าวในอัล-กุรอาน และอยู่บนพื้นฐานของความจริง โดยปราศจากความเชื่อที่บิดเบือน ในแต่ละมุมของเรื่องราวนี้มีข้อคิดที่แปลกใหม่ให้กับผู้อ่าน ซึ่งมีความสัมพันธ์กับจุดประสงค์ของเรื่องเป็นอย่างมาก

หลังจากที่เราได้ทราบถึงช่วงต่าง ๆ ของชีวิตท่านนบีอาดัม (อ.) และเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดในชีวิตของท่านแล้ว เราควรที่จะมองเรื่องราวของอัล-กุรอานให้ลึกลงไปในรายละเอียดให้มากกว่านี้ ซึ่งนอกจากจะทำให้เราได้รับคำตอบที่กินกับสติปัญญาสำหรับคำถามต่าง ๆ แล้ว ยังสามารถตอบข้อสงสัยของนักบูรพาคดีและบรรดาผู้ไม่หวังดีกับอิสลามอีกด้วย
การสร้างนบีอาดัม (อ.) จากมุมมองอัล-กุรอาน
ในมุมองของอัล-กุรอาน ท่านนบีอาดัม (อ.) นั้นได้ถูกสร้างขึ้นมาจาก “ฏีน” (โคลน) ซึ่งโคลนนี้ได้กลายเป็น “ศัลศอล” (ดินแห้ง) และหลังจากนั้นจะกลายเป็น “ฮามะอ์ มัสนูน” (ดินแห้งสีดำและมีกลิ่นเหม็น) จากนั้นเองท่านนบีอาดัมจึงมีชีวิตขึ้น และได้มีพัฒนาการเรื่อยมา ภรรยาของท่านก็ได้ถูกสร้างขึ้นมาในเวลาต่อมา ดังที่พระองค์ได้ทรงตรัสว่า :

يَا أَيُّهَا النَّاسُ اتَّقُوا رَبَّكُمُ الَّذِي خَلَقَكُمْ مِنْ نَفْسٍ وَاحِدَةٍ وَخَلَقَ مِنْهَا زَوْجَهَا وَبَثَّ مِنْهُمَا رِجَالا كَثِيرًا وَنِسَاءً
“มนุษย์ชาติทั้งหลาย จงยำเกรงพระเจ้าของพวกเจ้าที่ได้บังเกิดพวกเจ้าให้มีชีวิตมาจากคน ๆเดียว(นบีอาดัม) และได้ทรงบังเกิดจากคน ๆ นั้น (นบีอาดัม) คู่ครองเขา และได้ทรงให้แพร่สะพัดไปจากทั้งสองนั้น ซึ่งบรรดาชาย และบรรดาหญิงอันมากมาย” (อัน-นิซาอ์/1)

จากอายะฮ์นี้ และอายะฮ์อื่น ๆ ในอัล-กุรอานสามารถชี้ให้เห็นได้ชัดว่า หญิงและชายมีความเสมอภาคกันในด้านการถูกสร้าง และแหล่งที่มา คำว่า "مِن" ในอายะฮ์เช่นนี้หมายถึง การที่หญิงชายมีต้นกำเนิดมาจากที่เดียวกัน ดังที่เราได้อ่านกันในซูเราะฮ์รูมว่า :

وَمِنْ آيَاتِهِ أَنْ خَلَقَ لَكُمْ مِنْ أَنْفُسِكُمْ أَزْوَاجًا لِتَسْكُنُوا إِلَيْهَا

“และหนึ่งจากสัญญาณทั้งหลายของพระองค์คือ ทรงสร้างคู่ครองให้แก่พวกเจ้ามาจากตัวของพวกเจ้าเอง เพื่อพวกเจ้าจะได้มีความสุขอยู่กับนาง” (อัร-รูม/21)

ในอายะฮ์นี้ได้กล่าวถึงความเท่าเทียมในการสร้างนบีอาดัมและท่านหญิงฮาวา และความสูงส่งและคุณค่าของหญิงและชาย ดังนั้นเราควรที่จะมาทบทวนข้อกล่าวหาต่าง ๆ เกี่ยวกับประเด็นนี้ที่เกิดขึ้นมาแต่สมัยก่อน เพื่อที่จะหักล้างมันและได้มาซึ่งคำตอบที่กระจ่างชัดในประเด็นนี้

ในบทที่สองของ “หนังสือปฐมกาล” ในพันธสัญญาเก่า ได้กล่าวไว้ว่า :
“ดังนั้น พระเจ้าได้สร้างอาดัม (อ.) มาจากดิน และได้เป่าวิญญาณไปในจมูกของเขา เขาจึงได้มีชีวิตขึ้น... และพระเจ้าได้ทำให้เขาหลับไหลเป็นเวลาอันยาวนาน พระองค์ได้เอาซี่โครงซี่หนึ่งของเขาไป และได้ใส่เนื้อชิ้นหนึ่งแทนที่มัน ดังนั้นพระองค์ได้สร้างหญิงสาวผู้หนึ่งจากซี่โครงนั้น และได้นำนางมายังอาดัม (อ.) และได้กล่าวว่า : “เขาคือหนึ่งจากบรรดากระดูกของฉัน และเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อของฉัน เขามีชื่อว่า “นิซาอ์” (ผู้หญิง) เพราะถูกสร้างมาจาก “อินซาน” (คน)”

ความแตกของสวรรค์ของท่านนบีอาดัม (อ.) และสวรรค์ที่ถูกกำหนดไว้
ในอัลกุรอ่านได้กล่าวไว้ว่า ท่านนบีอาดัม (อ.) และภรรยาของท่านได้พำนักใน “ญันนะฮ์” (สวนที่เขียวขจีและเต็มไปด้วยต้นไม้) เมื่อครั่นที่ได้ถูกสร้างขึ้นมา ดังที่ได้อ่านในซูเราะฮ์บะเกาะเราะฮ์ว่า :

وَقُلْنَا يَا آدَمُ اسْكُنْ أَنْتَ وَزَوْجُكَ الْجَنَّةَ وَكُلا مِنْهَا رَغَدًا حَيْثُ شِئْتُمَا

“และเราได้กล่าวว่า โอ้อาดัม เจ้าและคู่ครองของเจ้าจงพำนักอยู่ในสวนสวรรค์นั้นเถิด และเจ้าทั้งสองจงบริโภคจากสวนนั้นอย่างกว้างขวาง ณ ที่ที่เจ้าทั้งสองปรารถนา” (อัล-บะเกาะเราะฮ์/35)

นักตัฟซีรต่างเชื่อว่า “ญันนะฮ์” ในที่นี้ไม่ใช่สวรรค์ที่พระองค์ทรงสัญญาไว้ในกิยามะฮ์ เพราะว่า :

1- สวรรค์ที่พระองค์ทรงสัญญาไว้ เป็นสถานที่ที่นิรันด์ หากใครได้ครอบครองไว้แล้วจะไม่ถูกขับไล่ออกจากที่นั้น

อัล-กุรอานกล่าวเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า :

سَنُدْخِلُهُمْ جَنَّاتٍ تَجْرِي مِنْ تَحْتِهَا الأنْهَارُ خَالِدِينَ فِيهَا أَبَدًا وَعْدَ اللَّهِ حَقًّا وَمَنْ أَصْدَقُ مِنَ اللَّهِ قِيلا

“เราจะให้พวกเขาเข้าบรรดาสวนสวรรค์ซึ่งมีแม่น้ำหลายสายไหลอยู่ภายใต้สวนสวรรค์เหล่านั้น โดยที่พวกเขาจะพำนักอยู่ในสวนสวรรค์เหล่านั้นตลอดกาล เป็นสัญญาอันแท้จริงของอัลลอฮ์ และใครเล่าที่มีคำพูดจริงยิ่งไปกว่าอัลลอฮ์” (อัน-นิซาอ์/122)

2- สวรรค์ที่พระองค์ทรงสัญญาไว้นั้น เป็นที่พำนักของผู้มีตักวาและบรรดาผู้บริสุทธ์เท่านั้น และชัยตอนมารร้าย ซึ่งเป็นผู้ฝ่าฝืนและเป็นผู้หลอกลวงนั้น ไม่มีทางที่จะเข้าไปในนั้นได้ แต่มันและพรรคพวกของมัน จะต้องอยู่ในนรกของพระองค์เท่านั้น

อัล-กุรอานกล่าวเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า :

لأمْلأنَّ جَهَنَّمَ مِنْكَ وَمِمَّنْ تَبِعَكَ مِنْهُمْ أَجْمَعِينَ

“แน่นอน ข้าจะให้นรกนั้นเต็มไปด้วยพวกเจ้า (ชัยฏอน) และจากผู้ที่เชื่อฟังเจ้าในหมู่พวกเขาทั้งหมด” (ศอด/85)

เราจะต้องเข้าใจว่า ในอัล-กุรอาน คำว่า “ญันนะฮ์” ไม่ได้หมายถึงสวรรค์ที่พระองค์ทรงสัญญาไว้เพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงสวนที่เขียวชอุ่มและเต็มไปด้วยต้นไม้อีกด้วย ถึงแม้นว่าจะอยู่บนโลกนี้ก็ตาม ดังที่ได้กล่าวในซูเราะฮ์บะเกาะเราะฮ์ว่า :

كَمَثَلِ جَنَّةٍ بِرَبْوَةٍ أَصَابَهَا وَابِلٌ فَآتَتْ أُكُلَهَا ضِعْفَيْنِ

“นั้นดังอุปมัย สวนแห่งหนึ่ง ณ ที่เนินสูง ซึ่งมีฝนหนัก ประสบแก่มัน แล้วมันก็นำมาซึ่งผลของมันสองเท่า” (อัล-บะเกาะเราะฮ์ /265)

และจะต้องรู้อีกว่า คำว่า “ฮุบูต” นั้นไม่ได้หมายถึงการลงมาจากฟากฟ้าหรือสวรรค์เพียงอย่างเดียว ยังหมายถึงการมาจากที่สูงก็ใช้คำว่า “ฮุบูต” เช่นเดียวกัน ดังที่ได้กล่าวเกี่ยวกับ “บะนีอิสรออีล” ว่า :

اهْبِطُوا مِصْرًا فَإِنَّ لَكُمْ مَا سَأَلْتُمْ

“...พวกท่านจงลงไปอยู่ในเมืองเถิด แล้วสิ่งที่พวกท่านขอก็จะเป็นของพวกท่าน...” (อัล-บะเกาะเราะฮ์ /61)

ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว จะเห็นได้อย่างชัดแจนว่า สวรรค์ที่ท่านนบีอาดัม (อ.) ได้พำนักอยู่ในนั้น กับสวรรค์ที่พระองค์ได้ทรงสัญญาไว้ มีความแตกต่างกันอย่างมาก แต่สวรรค์ที่ท่านนบีอาดัมได้อยู่นั้นก็มีคุณสมบัติที่ดีเลิศเช่นกัน และผู้ที่อยู่ในนั้นไม่มีความทุกข์ระทมและความยากลำบากใด ๆ ทั้งสิ้น และจะได้ออกห่างจากสิ่งโสมมและเลวร้าย ความตายและความหายนะทั้งปวง หากท่านนบีอาดัม (อ.) และภรรยาของเขาไม่ได้กินผลไม้จากต้นไม้ต้องห้ามนั้น จะยังได้อยู่อย่างผาสุขเป็นเวลายาวนาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้สนับสนุน