การนินทา

ลิ้นหรือการพูดคือสื่อในการสร้างความสัมพันธ์ และติดต่อระหว่างมนุษย์ด้วยกัน บางครั้งเราอาจจะคิดว่าเนื้อก้อนเล็กๆชิ้นนี้คงจะไม่มีประโยชน์และโทษมากมายสักเท่าไร แต่เมือพิจารณาดีๆแล้ว ลิ้นก็ก่อให้เกิดโทษและบาปต่างๆขึ้นมากมายได้ ลิ้นที่สามารถสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในโลกได้ ลิ้นอันนี้เองก็สามารถสร้างสงครามให้เกิดขึ้นในโลกได้ด้วยเช่นกัน บาปหนึ่งที่เกิดจากลิ้นก็คือการนินทา และถือว่าเป็นความชั่วร้ายหนึ่งที่ทำลายสังคม และก่อให้เกิดความคิดในทางที่ไม่ดีต่อกันหรือยิ่งไปกว่านั้นก็คือนำไปสู่ความบาดหมางและความเกลียดชังกัน และสังคมใดมีการนินทาสังคมนั้นจะไม่พบเห็นการเป็นเอกภาพ ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และความร่วมมือกันก็จะสูญสลายไป ในขณะที่ความเป็นศัตรูจะเข้ามาแทนที่ และจะทำให้ความชั่วร้ายต่างๆแพร่ระบาดทั่วไปในสังคม ในบรรดาโองการอัล กุรอานและหะดีษได้แสดงท่าทีด้วยคำพูดที่รุนแรงอย่างมากต่อประเด็นของการนินทา ในฉบับนี้จะขอหยิบยกเรื่องการนินทามาพูดคุยกัน ซึ่งเป็นปัญหาที่ใกล้ตัวเราทุกคนมากทีเดียว บางท่านอาจจะเกิดคำถามขึ้นในใจว่า การนินทาคืออะไร และการปฏิบัติอย่างไร ถือว่าเป็นการนินทา
บรรดานักวิชาการอิสลามได้ให้ความหมายของคำว่า “ ฆ็อยบะฮ์” การนินทา ว่าคือการพูดสิ่งหนึ่งเกี่ยวกับมุสลิม ซึ่งเป็นข้อบกพร่องที่เขาปกปิดไว้ซึ่งหากเขาได้ยิน เขาจะรู้สึกโกรธและไม่พอใจ ไม่ว่าข้อบกพร่องของเขานั้นจะเป็นเรื่องศาสนา,มารยาท,คำพูด,หรือแม้จะความบกพร่องของร่างกายก็ตาม
ท่านศาสดามุฮัมมัด(ศ็อลฯ)กล่าวว่า “ การนินทาคือการพูดสิ่งหนึ่งที่เกี่ยวกับพี่น้องมุสลิม หากเขาได้ยินเขาจะรู้สึกโกรธและไม่พอใจ ได้มีศอฮาบะฮ์ท่านหนึ่งถามท่านศาสดา(ศ็อลฯ)ว่า “ การที่เราพูดถึงพี่น้องมุสลิมในเรื่องที่เป็นจริงของเขา ถือว่าเป็นการนินทาหรือไม่?” ท่านศาสดา(ศ็อลฯ)กล่าวตอบว่า” หากเป็นข้อบกพร่องที่ปรากฏจริงในตัวเขา และพวกเจ้านำมาพูด พวกเจ้าได้ทำการนินทา แต่ถ้าหากข้อบกพร่องนั้นเป็นเท็จ ถือเป็นการใส่ร้าย “

ยังมีรายงานในเรื่องนี้อีกว่า “ ครั้งหนึ่งในขณะที่ศอฮาบะฮ์กลุ่มหนึ่ง ได้พูดคุยเรื่องราวของชายผู้หนึ่ง โดยพูดว่า “ ชายผู้นั้น .....อ่อนแอ และไม่มีความสามารถใดๆเลย “ เมื่อท่านศาสดา(ศ็อลฯ)ได้ยินคำพูดดังกล่าวนั้น ท่านกล่าวต่อศอฮาบะฮ์กลุ่มนั้นว่า “ พวกท่านได้ทำการนินทา “ ศอฮาบะฮ์กล่าวว่า “ พวกเราพูดถึงความจริงที่มีในตัวของเขา “ ท่านศาสดา(ศ็อลฯ)กล่าวตอบว่า” หากพวกท่านพูดเรื่องที่เป็นเท็จในตัวของเขา แน่นอนพวกท่านได้ทำการใส่ร้ายเขา”
เมื่อพิจารณาในตัวบทหะดีษข้างต้นเราจะเห็นว่ามีเส้นบางๆที่ขีดกั้นระหว่างการนินทาและการใส่ร้ายอยู่ แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้เราตระหนักมากยิ่งขึ้นนั้นคือ การเดินเข้าไปสู่บาปของการนินทาและการใส่ร้ายเป็นเรื่องที่ง่ายดาย หากเราไม่ระมัดระวังตัวเอง และเพื่อที่จะแยกแยะให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นระหว่างการนินทากับการใส่ร้าย เราจึงขอนำเสนอและกล่าวถึงเงื่อนไขต่างๆที่ถือว่าเป็นการนำไปสู่การนินทา ซึ่งมีดังต่อไปนี้
๑. ผู้พูดมีเจตนาที่จะเปิดเผยข้อบกพร่องที่ถูกปกปิดของผู้อื่น ดังนั้นหากพูดถึงข้อบกพร่องของบุคคลหนึ่งที่เป็นเรื่องเปิดเผยไม่ถือว่าเป็นการนินทา ถือว่าเป็นบาปแต่ไม่อยู่ในบาปที่เกิดขึ้นจากการนินทา เช่นการกล่าวถึงข้อบกพร่อง หรือความพิการของบุคคลหนึ่งที่สิ่งดังกล่าวนี้คนในสังคมเห็นและรับรู้กันทั่วไปซึ่งการกระทำดังกล่าวไม่ถือเป็นการนินทาแต่จะเป็นบาปในเรื่องการล้อเลียนผู้อื่น เกี่ยวกับเรื่องนี้มีรายงานจากท่านอิมามมูซา กาซิม (อ.) ได้กล่าวว่า “ บุคคลใดกล่าวถึงข้อบกพร่องของผู้อื่น ที่มีอยู่ในตัวเขา และประชาชนทั่วไปรู้ในเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างดี การพูดเช่นนี้ไม่ถือว่าเป็นการนินทา แต่ทว่าหากสิ่งที่พูดเป็นข้อบกพร่องที่มีอยู่ในตัวเขา และไม่มีผู้ใดรู้ ท่านกลับนำเรื่องนี้มาพูดคุย การทำเช่นนี้ถือว่าเป็นการนินทา และหากพวกท่านพูดถึงเรื่องที่เป็นเท็จในตัวเขา ท่านได้ทำการใส่ร้ายเขา”
๒. ข้อบกพร่องจะต้องเป็นความจริง มิฉะนั้นจะเป็นการใส่ร้าย
๓. มีเจตนาเพื่อทำลาย หรือทำให้ทุกข์ใจ แต่หากมีเจตนาเพื่อแก้ไขปัญหา ไม่ถือว่าเป็นการนินทา เช่น การบอกและอธิบายถึงข้อบกพร่องที่เป็นความลับของผู้ป่วยให้แพทย์ฟัง
๔. ผู้ที่พูดถึงต้องเป็นที่รู้จักของผู้ฟัง ดังนั้นหากพูดถึงบุคคลที่สาม โดยไม่บอกว่าเป็นใครไม่ถือว่าเป็นการนินทา
๕. ผู้ที่พูดถึงมิได้กระทำผิดบาปอย่างเปิดเผยและโจ้งแจ้ง เพราะบุคคลที่ทำผิดบาปอย่างเปิดเผยนั้น ไม่มีความระอายและรักในเกียรติยศชื่อเสียงของตนเองอีกต่อไป
๖. ผู้ที่ถูกนินทาเป็นมุสลิมและผู้ศรัทธา
อย่างที่เคยกล่าวมาแล้วว่า ลิ้นสามารถสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นฉั้นใด ลิ้นก็สามารถสร้างสงครามให้เกิดขึ้นได้ฉั้นนั้น ดังนั้นในการใช้คำพดหรือลิ้นของเราควรมีสติ และคิดใคร่ครวญก่อนเสมอค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้สนับสนุน