คำถาม : การอรรถธิบายกุรอานมีกี่ประเภท

คำตอบ : การอรรถาธิบายกุรอานแบ่งเป็นสองชนิดใหญ่ ๆ ด้วยกัน คือการอรรถาธิบายแบบ นักลีย์ (อธิบายโดยกุรอานเองและวจนะของท่านศาสดา (ศอล ฯ) ) และการอรรถธิบายแบบ อักลีย์ คือการอรรถธิบายโดยใช้หลักสติปัญญา ในการอรรถาธิบายแบบ นักลีย์ มีสองแบบด้วยกัน คือการใช้ประโยชน์จากกุรอานเอง เช่น บางครั้งนำเอาโองการหนึ่งที่เป็นโองการที่สนับสนุนอีกโองการหนึ่งมาอธิบายถึงความหมายของโองการนั้น แบบนี้เรียกว่าการอรรถาธิบายกุรอานด้วยกุรอาน หรือบางครั้งใช้ประโยชน์จากวจนะและคำสอนของบรรดาอะฮ์ลุลบัยต์มาอรรถธิบาย ตัวอย่างเช่น ใช้ฮะดิษบทหนึ่งมาอธิบายโองการโดยกล่าวว่าโองการนี้มีความหมายเฉพาะตามที่ฮะดิษบอกไว้ ซึ่งทั้งสองรูปแบบนี้อยู่ในรูปแบบของการอรรถาธิบายกุรอานแบบนักลีย์ หรือมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ตัฟซีรบิลมะอ์ซูร
การอรรถาธิบายแบบ อักลีย์ ก็มีหลายรูปแบบ บางครั้งเราใช้สติปัญญามาเป็นข้อสนับสนุน หมายถึงในการอธิบายโองการหนึ่งเราได้นำอายะฮ์กุรอานหลาย ๆ อายะฮ์หรือฮะดิษหลายฮะดิษมารวมกันแล้วหลังจากนั้นก็ให้สติปัญญามาเป็นตัวสรุปถึงความหมายของโองการนั้น ในลักษณะนี้สติปัญญาเป็นเพียงตัวชี้นำหรือเป็นเสมือนตะเกียงเท่านั้นซึ่งจะว่าไปแล้วในรูปแบบนี้ก็เป็นการอรรถาธิบายแบบนักลีย์นั่นเองเพราะเป็นการนำเอาบทสรุปมาจากโองการกุรอานและฮะดิษหรือบางครั้งเราใช้กฏหลักสติปัญญาเป็นบันทัดฐานหลักในการอธิบายโองการกุรอานซึ่งในลักษณะนี้สติปัญญาเป็นแหล่งอ้างอิงหลักไม่ใช่เป็นเพียงตัวชี้นำเท่านั้นเราสามารถแบ่งการอรรถาธิบายกุรอานเป็นสองรูปแบบใหญ่ ๆ คือ นักลีย์และอักลีย์ ส่วนนักลีย์ถูกแบ่งออกเป็นสองคือ คำอธิบายที่ใช้ประโยชน์จากตัวกุรอานเอง และคำอธิบายที่ใช้ประโยชน์จากคำสอนของบรรดาอะฮ์ลุลบัยต์ ดังนั้นการตัฟซีรแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบด้วยกันคือ
1- การตัฟซีรกุรอานด้วยกุรอาน
2- การตัฟซีรกุรอานด้วยซุนนะฮ์ (คำสอนของบรรดาอะฮ์ลุลบัยต์)
3- การตัฟซีรกุรอานด้วยสติปัญญา
ส่วนการอรรถาธิบายกุรอานด้วยการใช้ทัศนะของตัวเองนั้นไม่เรียกว่าเป็นการตัฟซีร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้สนับสนุน