การประทานกุรอานกับการแต่งตั้งท่านศาสดา (ศ็อล ฯ)

อัลกุรอานกล่าวว่า -
شَهْرُ رَمَضَانَ الَّذِي أُنْزِلَ فِيهِ الْقُرْآنُ
เดือนรอมฎอนนั้น เป็นเดือนที่อัลกุร-อานได้ถูกประทานลงมา (ซูเราะฮ์บะเกาะเราะฮ์โองการที่ 185)
إِنَّا أَنْزَلْنَاهُ فِي لَيْلَةٍ مُبَارَكَةٍ
แท้จริงเราได้ประทานอัลกุรอานลงมาในคืนอันจำเริญ (ซูเราะฮ์ ดุคอน โองการที่ 3)
إِنَّا أَنْزَلْنَاهُ فِي لَيْلَةِ الْقَدْرِ
แท้จริงเราได้ประทานอัลกุรอานลงมาในคืนอัลก็อดร์ (ซูเราะฮ์ก็อดร์ โองการที่ 1)
มุสลิมทั้งหลายรู้ดีว่าท่านศาสดา (ศอลฯ) ได้รับแต่งตั้งให้เป็นศาสนทูตเมื่อท่านอายุ 40 ปี ( ประมาณ ปี ค.ศ. 610 หรือ 611) ในเมืองมักกะฮ์ และก็รู้ว่าท่านศาสดา (ศอลฯ) ถูกแต่งตั้งในถ้ำฮิรออ์ โดยอัลลอฮ์ (ซบ.)ได้ทรงประทาน โองการช่วงต้นของซูเราะฮ์ อะลัก ลงมาด้วย สองประเด็นดังกล่าวเป็นสิ่งที่มุสลิมทั้งหลายให้การยอมรับ แต่มีประเด็นที่มีการขัดแย้งกันอย่างรุนแรงคือ การแต่งตั้งท่านศาสดา(ศอลฯ) เกิดขึ้นเมื่อใด ซึ่งประเด็นนี้เองเป็นเหตุทำให้เกิดความขัดแย้งในเรื่องการประทานกุรอานลงมาในครั้งแรกด้วย มีทัศนะมากมาย เกี่ยวกับเรื่องการแต่งตั้งท่านศาสดา (ศ็อลฯ) :
1 - ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ถูกแต่งตั้งวันที่ 27 เดือนระญับ
2 - ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ถูกแต่งตั้งวันที่ 17 เดือนรอมฎอน
3 - ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ถูกแต่งตั้งวันที่ 18 เดือนรอมฎอน
4 - ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ถูกแต่งตั้งวันที่ 24 เดือนรอมฎอน
5 - ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ถูกแต่งตั้งวันที่ 12 เดือนรอบิอุลเอาวัล
6 - ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ถูกแต่งตั้งคืนวันที่ 15 เดือนชะอ์บาน
7 - ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ถูกแต่งตั้งวันที่ 8 เดือนรอบิอุลเอาวัล
8- ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ถูกแต่งตั้งวันที่ 3 เดือนรอบิอุลเอาวัล
ส่วนชีอะฮ์เชื่อว่าท่านศาสดา(ศอลฯ) ถูกแต่งตั้งในวันที่ 27 เดือนระญับ โดยยึดหลักฐานจากรายงานฮะดีษมากมายที่รายงานมาจากบรรดาอะฮ์ลุลบัยต์ โดยเชื่อว่าบรรดาอะฮ์ลุลบัยต์ของท่านศาสดา(ศอล ฯ) ย่อมรู้ดีกว่าผู้อื่นในเรื่องของการแต่งตั้งท่านศาสดา (ศ็อลฯ) อย่างแน่นอน ซึ่งบรรดาอะฮ์ลุลบัยต์ได้รายงานฮะดีษเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างมากมายซึ่งเราจะขอนำเสนอดังนี้
1- มีรายงานจากท่านอิมามซอดิก (อ.) ว่า – ท่านศาสดาถูกแต่งตั้งในวันที่ 27 เดือนรอญับ ใครก็ตามที่ถือศิลอดในวันนี้จะได้รับผลบุญเท่ากับผู้ที่ถือศิลอด 60 เดือน
2- มีรายงานจากท่านอิมาม มูซากาซิม (อ.) ว่า – อัลลอฮ์ได้ทรงแต่งตั้งท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ผู้เป็นความเมตตาแก่ชาวโลก ในวันที่ 27 เดือนรอญับ ใครก็ตามที่ถือศิลอดในวันนี้ อัลลอฮ์ (ซบ.) จะทรงตอบแทนรางวัลให้เขาเท่ากับเขาถือศิลอด 60 เดือน
3- ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า - อย่าได้ทิ้งการถือศิลอดในวันที่ 27 เดือนรอญับเป็นอันขาด เพราะวันนี้เป็นวันที่ท่านศาสดามุฮัมมัด (ศอลฯ) ถูกแต่งตั้ง ซึ่งผู้ที่ถือศิลอดในวันนี้จะได้รับผลบุญเท่ากับคนถือศิลอด 60 เดือน
และยังมีรายงานฮะดีษอีกมากมายที่มีเนื้อหาในลักษณะดังกล่าว
นักวิชาการฝ่ายอะฮ์ลิซุนนะฮ์เชื่อว่าการแต่งตั้งท่านศาสดาเกิดขึ้นในเดือนรอมฎอนโดยยึดหลักฐานจากโองการอัลกุรอาน ในซูเราะฮ์ บะเกาะเราะฮ์ ซูเราะฮ์ ดุคอน และซูเราะฮ์ ก็อดร์ พวกเขากล่าวว่า : ในอัลกุรอานไม่ได้เอ่ยถึงเดือนรอญับ หรือการแต่งตั้งท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ในเดือนนี้เลย แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดจากโองการในอัลกุรอานคือ อัลกุรอานถูกประทานลงมาในเดือนรอมฎอน เช่น ในโองการที่ 185 ซูเราะฮ์บะเกาะเราะฮ์ กล่าวว่า : เดือนรอมฎอนนั้น เป็นเดือนที่อัลกุรอานได้ถูกประทานลงมา หรือโองการที่ 3 ของซูเราะฮ์ดุคอน ที่ตรัสว่า : แท้จริงเราได้ประทานอัลกุรอานลงมาในคืนอันจำเริญ ( คืนลัยละตุลก็อดร์ ) หรือโองการที่ 1 ของซูเราะฮ์ ก็อดร์ ที่กล่าวว่า : แท้จริงเราได้ประทานอัลกุรอานลงมาในคืนอัลก็อดร์ ( คืนลัยละตุลก็อดร์ ) และแน่นอนการแต่งตั้งท่านศาสดา (ศอลฯ) มาพร้อมกับการประทานกุรอานดังนั้นเดือนรอมฎอนก็คือเดือนที่ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ถูกแต่งตั้งนั่นเองจากคำอธิบายข้างต้นมี 2 ประเด็นที่เป็นยังข้อสงสัยอยู่ก็คือ
ประเด็นแรก : โองการทั้งสามโองการที่ถูกหยิบยกมาข้างต้นกล่าวถึง เวลาของการประทานอัลกุรอานเท่านั้นไม่ได้กล่าวถึงสถานที่ของการประทานอัลกุรอานแต่อย่างใดเลย ในขณะที่มุสลิมทั้งหลายเชื่อและเป็นที่ยอมรับกันว่าท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ถูกแต่งตั้งโดยมีทูตจากอัลลอฮ์ (ซบ.) มาหาท่านที่ถ้ำฮิรออ์ ซึ่งทั้ง 3 โองการนี้ไม่ได้กล่าวถึงสถานที่ดังกล่าวเลย ประเด็นที่สอง : ในโองการที่ 185 ของซูเราะฮ์ บะเกาะเราะฮ์ และโองการที่ 1 ของซูเราะฮ์ก็อดร์บ่งบอกถึงการประทานทั้งหมดของอัลกุรอานในคราวเดียวซึ่งถูกประทานมาในเดือนรอมฎอน ซึ่งในโองการที่ 3 ซูเราะฮ์คุคอนกล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจนกว่า โดยได้กล่าวว่า – “ฮามีม ขอสาบานต่อคัมภีร์อันชัดแจ้ง แท้จริงเราได้ประทานมัน (กุรอาน) ลงมาในคืนอันจำเริญ” ซึ่งในโองการนี้คำว่า انزلناه (เราได้ประทานมันลงมา) สรรพนามคำว่า ه (มัน) ซึ่งเป็นสรรนามของบุรุษที่สาม ในที่นี้ย้อนกลับไปหาคำว่า “กิตาบ” (คัมภีร์) ก็เท่ากับว่าโองการนี้บ่งบอกว่า ทั้งหมดของอัลกุรอานถูกประทานลงมาในคราวเดียวในคืนลัยละตุลก็อดร์ แต่ทว่าเป็นที่ทราบกันดีว่าการประทานกุรอานครั้งแรกที่เป็นการบ่งบอกถึงการที่ท่านศาสดาถูกแต่งตั้งในถ้ำฮิรออ์นั้นถูกประทานลงมาเพียง 5 โองการเท่านั้น ดังนั้นเราจะกล่าวไม่ได้ว่า โองการข้างต้นทั้งสามโองการนั้น เป็นโองการที่เกี่ยวกับการแต่งตั้งท่านศาสดา (ศ็อลฯ) นักวิชาการร่วมสมัยท่านหนึ่ง ได้นำเสนอทัศนะเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยกล่าวว่า : “ ตามรายงานฮะดิษบ่งชี้ว่าการแต่งตั้งท่านศาสดา (ศอลฯ) เกิดขึ้นในเดือนรอญับ แต่การประทานกุรอานครั้งแรกเกิดขึ้นในเดือนรอมฏอน 3 ปีหลังจากนั้น ซึ่งในช่วงระยะเวลา 3 ปีนั้นท่านศาสดา (ศอลฯ) ทำการเผยแพร่อย่างลับ ๆ จนกระทั่ง โองการที่ 94 – 96 ซูเราะฮ์ ฮิจร์จึงได้ถูกประทานลงมา
فَاصْدَعْ بِمَا تُؤْمَرُ وَأَعْرِضْ عَنِ الْمُشْرِكِينَ
ดังนั้น จงประกาศอย่างเปิดเผยในสิ่งที่เจ้าถูกบัญชา และจงผินหลังให้พวกมุชริกีน
จากนั้นเองโองการต่าง ๆ ของอัลกุรอานก็ถูกลงมาเป็นลำดับตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนอีกด้านหนึ่งมีรายงานฮะดิษที่บ่งชี้ว่าการประทานกุรอานทั้งหมดใช้เวลา 20 ปีด้วยกัน จากคำอธิบายนี้เราสามารถสรุปได้ว่า การประทานกุรอานเริ่มต้นหลังจากการแต่งตั้งท่านศาสดา (ศอลฯ) แล้ว 3 ปีซึ่งการประทานกุรอานเกิดขึ้นในเดือนรอมฎอน ”
จากคำกล่าวข้างต้นพอจะสรุปได้เป็นข้อ ๆ ดังนี้
1- ระหว่างการแต่งตั้งท่านศาสดา (ศอลฯ) กับการประทานกุรอานไม่ได้เกี่ยวข้องกัน
2- 5 อายะฮ์แรกของซูเราะฮ์ อัล อะลัก ที่ถูกประทานในถ้ำฮิรออ์ เป็นการบอกข่าวดีและบ่งชี้ถึงการแต่งตั้งท่านศาสดา (ศอลฯ) เท่านั้นไม่ถือว่าเป็นการประทานกุรอาน
3- กุรอานเริ่มต้นถูกประทานในฐานะกุรอานในเดือนรอมฎอน หลังจากการแต่งตั้งท่านศาสดา (ศอลฯ)แล้วเป็นเวลา 3 ปี
4- ระยะเวลาในการประทานกุรอานทั้งหมด 20 ปีด้วยกัน
5- ความหมายของการประทานกุรอานในเดือนรอมฎอน คือการเริ่มต้นประทานในเดือนนี้ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ต่าง ๆ ในช่วงชีวิคของการเผยแพร่ของท่านศาสดา (ศอลฯ)
หากพิจารณาในหนังสือ อัล ตัมฮีด จะเห็นว่าอายาตุลลอฮ์ ฮาดีย์ มะริฟัตได้ยึดหลักฐานจากรายงานฮะดิษสองกลุ่มด้วยกัน
1- กลุ่มแรกเป็นกลุ่มรายงานทางประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงการเชิญชวนแบบลับ ๆ ของท่านศาสดาในมักกะฮ์ในช่วง 3 ปีแรกของการแต่งตั้งก่อนการประทานโองการที่สั่งให้ท่านเผยแพร่อิสลามอย่างเปิดเผย
2- กลุ่มที่สองเป็นรายงานที่กล่าวถึงระยะเวลาในการประทานอัลกุรอานให้กับท่านศาสดา ที่กล่าวว่าระยะเวลาทั้งหมดเพียง 20 ปี ไม่ใช่ 23 ปี
จากหลักฐานและคำกล่าวของท่านอายาตุลลอฮ์ ฮาดีย์มะริฟัต มีข้อสงสัยอยู่หลายประการดังนี้
1- รายงานที่กล่าวถึงเรื่องการเผยแพร่อย่างลับในช่วง 3 ปีแรกของการแต่งตั้งท่านศาสดาที่รายงานจาก อะลี อิบนิอิบรอฮีม กุมมี รายงานจาก ยะอ์กูบีย์ รายงานจาก มุฮัมมัด บิน อิสฮาก และคำกล่าวของท่านอิมามศอดิก (อ.) รายงานต่าง ๆเหล่านั้นกล่าวถึงการเผยแพร่อย่างลับ ๆ ของท่านศาสดา (ศอลฯ) เท่านั้นไม่ได้กล่าวกถึงการประทานกุรอานหรือการไม่ประทานกุรอานในช่วงเวลานั้นแต่อย่างใดเลย และในทางกลับกันก็เป็นไปได้ว่าในช่วงเวลานั้นมีการประทานกุรอานมาด้วย เพราะจะเป็นไปได้อย่างไรที่ในระยะเวลาตั้ง 3 ปีมีการประทานกุรอานเพียงแค่ 5 โองการในถ้ำฮิรออ์เท่านั้น
2- มีรายงานว่าการประทานกุรอานอย่างต่อเนื่องเกิดขึ้นหลังจากการประทานโอง .................. ซึ่งหากพิจารณาแล้วโองการนี้อยู่ในซูเราะฮ์ ฮิจร์ ซึ่งเป็นซูเราะฮ์ที่ประทานลงมาที่มักกะฮ์ ซึ่งจากการเรียงลำดับการประทานกุรอานของหนังสือ อัล ตัมฮีดเอง โดยอ้างหลักฐานจากรายงานฮะดิษของ อิบนิอับบาส และ ญาบิร บิน เซด กล่าวว่า ซูเราะฮ์ฮิจร์เป็นซูเราะฮ์ลำดับที่ 54 ของกุรอาน
หากพิจารณาตามการเรียงลำดับของหนังสืออัล ตัมฮีด จะต้องยอมรับว่าก่อนโองการ .............. กุรอานประทานมาแล้ว 53 ซูเราะฮ์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในช่วงของการเผยแพร่อย่างลับ ๆ ของท่านศาสดา (ศอลฯ) ก็ไม่มีปัญหาอะไรที่กุรอานก็ถูกประทานลงมาในช่วงเวลานั้นด้วย
3- และหากพิจาณาอย่างละเอียดจะพบท่านศาสดา (ศอลฯ) ต้องการการชี้แนะจากอัลลอฮ์ในช่วงแรกของการถูกแต่งตั้งให้เป็นศาสดา (ศอลฯ) มากกว่าเวลาอื่น โดยจะสังเกตุได้จากจำนวนโองการที่ประทานในเมืองมักกะฮ์ซึ่งถือเป็นช่วงแรกของการถูกแต่งตั้งให้เป็นศาสดา มีจำนวนมากกว่าโองการที่ถูกประทานในเมืองมะดีนะฮ์
4- มีรายงานมากมายที่กล่าวว่า ระยะเวลาการประทานกุรอานทั้งหมด 23 ปี
5- รายงานฮะดิษที่เจ้าของหนังสือ อัล – ตัมฮีดได้อ้างถึงเกี่ยวกับเรื่องระยะเวลาของการประทานอัลกุรอานว่าทั้งหมดใช้เวลา 20 เท่านั้น ซึ่งถ้าหากพิจารณาให้ดีแล้วรายงานฮะดิษดังกล่าวนั้นขัดกับทัศนะของเจ้าของหนังสืออัต – ตัมฮีดเอง
ในรายงานที่ในหนังสืออัต – ฮีดยกมาเพียงบางส่วน แต่เราจะขอนำตัวบทฮะดิษทั้งหมดมานำเสนอและอธิบายดังต่อไปนี้
ฮัฟซ์ บิน ฆิยาซกล่าวว่า ฉันได้เรียนถามท่านอิมามศอดิกว่า – ทำไมกุรอานกล่าวว่า – เดือนรอมฏอนเป็นเดือนที่อัลกุรอานถูกประทานลงมา ในขณะที่ในช่วง 20 ปีกุรอานถูกประทานลงมาตลอดเวลา
ท่านอิมาม กล่าวว่า – การประทานกุรอานที่กล่าวถึงในอายะฮ์ เป็นการประทานทั้งหมดของกุรอานมาในบัยตุลมะอ์มูร และหลังจากนั้นเป็นระยะเวลา 20 ปีได้ประทานตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในรายงานฮะดิษนี้เป็นฮะดิษที่ถูกนำมาพิสูจน์และกล่าวถึงเรื่องการประทานกุรอานมาในบัยตุลมะอ์มูร ( คือสถานที่หนึ่งที่ทีกุรอานถูกพักไว้ก่อนที่จะประทานลงมาให้กับท่านศาสดา ซึ่งมีรายงานว่าเป็นสถานที่ที่อยู่ ณ ชั้นฟ้าชั้นที่ 4 ) แต่ถูกนำมาใช้เป็นหลักฐานในเรื่องระยะเวลาของการประทานกุรอาน และในขณะเดียวกันในฮะดิษนี้กล่าวถึงการประทานทั้งหมดของอัลกุรอาน ไม่ได้บอกว่ากุรอานถูกเริ่มต้นประทานในเดือนรอมฎอน
จากคำกล่าวทั้งหมดนี้สรุปได้ว่าการแต่งตั้งท่านศาสดา (ศอลฯ) และการประทานอัลกุรอานที่ถือเป็นธรรมนูญแห่งชีวิตของมนุษย์นั้นเกิดขึ้นในวันที่ 27 เดือนรอญับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้สนับสนุน