อายะฮ์และซูเราะฮ์ในอัล กุรอาน

ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่านในฉบับนี้เราจะมาวิเคราะห์ความหมายของคำว่า ซูเราะฮ์และอายะฮ์ รวมทั้งกล่าวถึงจำนวนอายะฮ์และคำทั้งหมดในอัล กุรอานกัน อย่างที่ท่านผู้อ่านทราบกันดีแล้วว่า อัล กุรอานมี 114 ซูเราะฮ์ และในแต่ละซูเราะฮ์จะมีจำนวนโองการหรือที่เรียกว่าอายะฮ์ที่แตกต่างกันไป ซึ่งในช่วงแรกนี้จะขอนำเสนอความหมายเกี่ยวกับทั้งสองดังกล่าวนี้ก่อน ความหมายของคำว่าอายะฮ์ คำว่า อายะฮ์ ในทางภาษาให้ความหมายว่า สัญลักษณ์ที่ชัดเจนหรือเครื่องหมายที่ชัดแจ้ง ในอัล กุรอานให้ความหมายของคำว่าอายะฮ์ไปในรูปแบบต่าง ๆ ดังต่อไปนี้1 – ให้ความหมายว่า สัญลักษณ์หรือเครื่องหมาย อัล กุรอานกล่าวในซูเราะฮ์ มัรยัม โองการที่ 10 ว่า قَالَ رَبِّ اجْعَلْ لِي آيَةً เขากล่าวว่า “ข้าแต่พระเจ้าของข้าพระองค์ ขอพระองค์ทรงโปรดทำให้มีสัญญาณ แก่ข้าพระองค์ด้วย2 – ให้ความหมายว่า สิ่งมหัศจรรย์ อัล กุรอานกล่าวในซูเราะฮ์ อาลิ อิมรอน โองการที่ 49 ว่า أَنِّي قَدْ جِئْتُكُمْ بِآيَةٍ مِنْ رَبِّكُمْ แท้จริงนั้นได้นำสัญญาณหนึ่ง(สิ่งมหัศจรรย์)จากพระเจ้าของพวกท่านมายังพวกท่านแล้ว 3 – ให้ความหมายว่า หลักฐาน อัล กุรอานกล่าวในซูเราะฮ์ อัล บะเกาะเราะฮ์ โองการที่ 145 ว่า وَلَئِنْ أَتَيْتَ الَّذِينَ أُوتُوا الْكِتَابَ بِكُلِّ آيَةٍ مَا تَبِعُوا قِبْلَتَكَ และแน่นอน ถ้าหากเจ้าได้นำหลักฐานทุกอย่างมาแสดงแก่บรรดาผู้ได้รับคัมภีร์พวกเขาก็ไม่ตามกิบละฮ์ของเจ้า4 – ให้ความหมายว่า อุทาหรณ์ อัล กุรอานกล่าวในซูเราะฮ์ ฮูด โองการที่ 103 إِنَّ فِي ذَلِكَ لآيَةً لِمَنْ خَافَ عَذَابَ الآخِرَةِ แท้จริง ในการนั้นเป็นอุทาหรณ์สำหรับผู้ที่กลัวการลงโทษในวันอาคิเราะฮ์ 5 – ให้ความหมายว่า โองของซูเราะฮ์ในอัล กุรอาน อัล กุรอานกล่าวในซูเราะฮ์ ฟุศศิลัตโองการที่ 3 ว่า : كِتَابٌ فُصِّلَتْ آيَاتُهُ قُرْآنًا عَرَبِيًّا لِقَوْمٍ يَعْلَمُونَ คัมภีร์ซึ่งโองการทั้งหลายได้ให้คำอธิบายไว้อย่างละเอียดเป็นอัล กุรอานภาษาอาหรับสำหรับหมู่ชนผู้มีความรู้ ส่วนคำว่า “อายะฮ์” ในสำนวนทางวิชาการหมายถึงคำหรือประโยคที่ถูกแยกออกจากประโยคก่อนและหลังซึ่งมีปรากฏในทุกซูเราะฮ์ โองการแรกและโองการสุดท้ายของอัล กุรอาน นักวิชาการและนักค้นคว้าด้านอัล กุรอานเชื่อว่า โองการแรกของอัล กุรอานที่ถูกประทานลงมาคือ 5 โองการแรกของซูเราะฮ์ อัลอะลัก โดยมีรายงานฮะดิษยืนยันถึงความเชื่อดังกล่าวอย่างชัดเจน มีรายงานจากท่านอิมาม ซอดิก (อ) ว่า : โองการแรกที่ถูกประทานให้กับท่านศาสดา(ศ็อล ฯ) คือ اقْرَأْ بِاسْمِ رَبِّكَ الَّذِي خَلَقَ (١)خَلَقَ الإنْسَانَ مِنْ عَلَقٍ (٢)اقْرَأْ وَرَبُّكَ الأكْرَمُ (٣)الَّذِي عَلَّمَ بِالْقَلَمِ (٤)عَلَّمَ الإنْسَانَ مَا لَمْ يَعْلَمْ (٥) 1. จงอ่านด้วยพระนามแห่งพระเจ้าของเจ้าผู้ทรงสร้าง 2. ทรงสร้างมนุษย์จากก้อนเลือด 3. จงอ่านเถิด และพระเจ้าของเจ้านั้นผู้ทรงเกียรติยิ่ง 4. ผู้ทรงสอนการใช้ปากกา 5. ผู้ทรงสอนมนุษย์ในสิ่งที่เขาไม่รู้ ส่วนประเด็นเกี่ยวกับโองการสุดท้ายของอัล กุรอานที่ถูกประทานให้แก่ท่านศาสดา (ศ็อลฯ)นักวิชาการมีความเห็นที่แตกต่างกันออกไปซึ่งท่าน ซัรกอนี ได้กล่าวไว้ในหนังสือ مناهل العرفان ว่ามีทัศนะเกี่ยวกับเรื่องนี้ถึง 10 ทัศนะด้วยกัน ซึ่งเราจะขอนำเสนอกับท่านผู้อ่านเพียงบางทัศนะเท่านั้น 1 – อิบนิอับบาสและอิบนิอุมัรเชื่อว่า โองการสุดท้ายของอัล กุรอานคือโองการที่ 281 ของซูเราะฮ์ บะเกาะเราะฮ์ 2 – อิบนิอะบีฮาตัม นักตัฟซีรและนักวิชาการอิสลามในช่วงศตวรรษที่ 2 -3 เชื่อว่าโองการที่ถูกประทานลงมาเป็นโองสุดท้ายของอัล กุรอานคือโองการที่ 278 ของซูเราะฮ์ บะเกาะเราะฮ์ 3 – ซัรกอนี นักวิชาการด้านอุลูมกุรอานเจ้าของหนังสือ มะนาฮิลุลอิรฟาน และซูยูฎีย์ เจ้าของหนังสือ อัลอิตกอน เชื่อว่าโองการสุดท้ายของอัล กุรอานคือโองการที่ 282 ของซูเราะฮ์ บะเกาะเราะฮ์ โดยที่ ซัรกอนีได้นำหลักฐานมายืนยันถึงความเชื่อของตนเองว่า - เพราะโองการนี้เป็นโองการที่กล่าวถึงการให้มนุษย์เตรียมตัวไปสู่วันกิยามะฮ์และโองการยังมีความหมายที่ต้องการจะกล่าวถึงการสิ้นสุดการประทานอัล กุรอานอีกด้วย - มีรายงานจากอิบนิอะบีฮาตัมว่า หลังจากโองการนี้ถูกประทานลงมาเพียง 9 วันหลังจากนั้นท่านศาสดาก็เสียชีวิต (อัล อิตกอน ฟี อุลูมิลกุรอาน เล่ม 1 หน้า 87) 4 – ยะอ์กูบีนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์เจ้าของหนังสือตารีค ยะอ์กูบีย์ เชื่อว่า โองการที่ 3 ของซูเราะฮ์ มาอิดะฮ์ คือโองการสุดท้ายของอัล กุรอานซึ่งถูกประทานลงมาในตำบล เฆาะดีคุม หลังจากที่ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ได้แต่งตั้งให้ท่านอิมามอาลี (อ) เป็นผู้นำสืบต่อจากท่าน (อัตตัมฮีด ฟี อุลูมิลกุรอาน เล่ม 1 หน้า 128 – 129) จำนวนโองการในอัล กุรอาน ในเรื่องจำนวนโองการในอัล กุรอานนั้นนักวิชาการด้านอัล กุรอานมีความขัดแย้งและมีทัศนะต่าง ๆ มากมาย แต่ความขัดแย้งดังกล่าวไม่ได้เกิดจากการที่ว่าอัล กุรอานขาดตกบกพร่องหรือถูกเพิ่มเติมแต่อย่างใด แต่ความขัดแย้งนั้นเกิดจากกำหนดการหยุดระหว่างอายะฮ์และการนับอายะฮ์ที่แตกต่างกัน และนักวิชาการยังเชื่ออีกว่าสาเหตุของความขัดแย้งนั้นเกิดจากการที่บางครั้งท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) เริ่มต้นอ่านโองการหนึ่งและอ่านโองการต่อไปโดยหยุดระหว่างโองการเพียงเล็กน้อยจนเป็นเหตุให้บางคนเข้าใจว่าท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ยังอ่านไม่จบโองการจึงนับโองการนั้นเป็นหนึ่งโองการเท่านั้น หรือบางครั้งความขัดแย้งเกิดจากนักอ่านอัล กุรอานและนักท่องจำในช่วงยุคแรก ๆ มีทัศนะที่แตกต่างกันในการหยุดและการเริ่มต้นของแต่ละโองการ นักอ่านอัล กุรอานหรือนักท่องจำอัล กุรอานที่อาศัยอยู่ในเมืองสำคัญต่าง ๆ ของอิสลามมีทัศนะและความคิดเห็นเกี่ยวกับการหยุดและการเริ่มต้นของแต่ละโองการอีกทั้งการนับโองการที่แตกต่างกันเช่นนักท่องจำในเมืองมักกะฮ์มีทัศนะในการอ่านและการนับโองการแบบหนึ่งซึ่งแตกต่างกับทัศนะของนักอ่านในเมืองกูฟะฮ์ ประชาชนของแต่ละเมืองก็จะอ่านอัล กุรอานตามนักวิชาการของตนจึงเกิดความขัดแย้งกัน แต่ความขัดแย้งในสองประเด็นดังกล่าวนี้เป็นความขัดแย้งที่ผิวเผินไม่ได้มีผลต่อจำนวนโองการของอัล กุรอานที่แท้จริงแต่อย่างใดเลย นักอ่านกุรอานในแต่ละเมืองสำคัญของอิสลามมีความเชื่อเกี่ยวกับจำนวนของโองการกุรอานที่แตกต่างกันไป ด้วยเหตุนี้จึงมีการเรียกจำนวนของโองการตามชื่อของเมืองต่าง ๆ นั้นด้วย เช่น อะดะดุ มักกีย์ หมายถึงจำนวนโองการอัลกุรอานตามความเชื่อของชาวมักกะฮ์ หรืออะดะดุ กูฟีย์ หมายถึงจำนวนของโองการอัล กุรอานตามความเชื่อของชาวกูฟะฮ์ ซึ่งตามความเชื่อของชาวกูฟะฮ์โองการในอัลกุรอาน มีทั้งหมด 6236 โองการ ซึ่งจำนวนของโองการดังกล่าวนี้ถูกกล่าวไว้ในหนังสืออัลอิตกอนว่า – จำนวนดังกล่าวนี้รายงานจาก อิบนิอะบีลัยลา ซึ่งรายงานจากอับดุลเราะฮ์มาน ซุลละมีย์ ที่รายงานมาจากท่านอะลี อิบนิ อะบีฏอลิบ (อัลอิตกอน เล่ม 1 หน้า 211 ) แต่ก็มีบางส่วนเช่นกันที่เชื่อว่าโองการอัลกุรอานทั้งหมดมี 6666 โองการ ส่วนจำนวนคำทั้งหมดในอัลกุรอ่านมีทั้งหมด 77807 คำ ซึ่งจำนวนคำดังกล่าวนี้อ้างอิงจากหนังสือ อัลมุอ์ญัมอิฮ์ซออีย์ ความหมายของคำว่า ซูเราะฮ์ บรรดานักวิชาการด้านภาษาเชื่อว่าคำว่า ซูเราะฮ์ หมายถึงความสูงส่ง หรือ สถานะภาพอันสูงส่ง อิบนิฟาริส นักวิชาการด้านภาษาอาหรับกล่าวว่า – รากศัพท์ของคำว่า ซูเราะฮ์ หมายถึงความสูงส่ง ส่วนในทางวิชาการคำว่าซูเราะฮ์หมายถึง บทเฉพาะที่เริ่มต้นด้วยบิสมิลลาฮ์ ประเภทต่าง ๆ ของซูเราะฮ์ นักวิชาการด้านอัล กุรอานได้แบ่งซูเราะฮ์ในอัล กุรอานไว้ 4 ประเภทด้วยกัน พร้อมกับตั้งชื่อประเภทต่าง ๆ ไว้ดังนี้ 1 – سبع الطول (ซับอุตตุวัล) หมายถึง 7 ซูเราะฮ์ที่มีความยาวมากที่สุด ซึ่งนักวิชาการส่วนมากเห็นว่า 7 ซูเราะฮ์ดังกล่าวนั้นก็คือ ซูเราะฮ์ บะเกาะเราะฮ์ ซูเราะฮ์ อาลิอิมรอน ซูเราะฮ์ นิสาอ์ ซูเราะฮ์ มาอิดะฮ์ ซูเราะฮ์ อันอาม และ ซูเราะฮ์ อะอ์รอฟ ในส่วนของซูเราะฮ์ อะอ์รอฟ นั้น นักวิชาการบางท่านเช่น ซะอีด อิบนิ ญุบัยร์ เชื่อว่าเป็นซูเราะฮ์ยูนุสหรืออีกบางท่านเชื่อว่า เป็นซูเราะฮ์กะฮ์ฟิ 2 – المئون (อัลมะอูน) คือบรรดาซูเราะฮ์ที่โองการมากกว่า 100 โองการซึ่งได้แก่ ซูเราะฮ์ เตาบะฮ์ ซูเราะฮ์ อันนะฮล์ ซูเราะฮ์ ฮูด ซูเราะฮ์ ยูซุฟ ซูเราะฮ์ อัมบิยาอ์ ซูเราะฮ์ ฏอฮา ซูเราะฮ์ มุอ์มินูน และซูเราะฮ์ ชูรอ 3 – المثانی (อัลมะซานีย์ ) หมายถึงซูเราะฮ์ที่โองการน้อยกว่า 100 โองการซึ่งมีด้วยกัน 20 ซูเราะฮ์ 4 – المفصل (อัลมุฟัศศอล) หมายถึงซูเราะฮ์มีเนื้อหาสั้นมาก เช่นซูเราะอ์ อัลเกาซัร ซูเราะฮ์ อันนาส ..... ซูเราะฮ์แรกและซูเราะฮ์สุดท้ายของอัล กุรอาน เกี่ยวกับเรื่องซูเราะฮ์แรกของอัล กุรอานมีทัศนะที่แตกต่างกันมากมายในหมู่นักวิชาการด้านอัล กุรอาน นักวิชาการบางท่านเชื่อว่า ซูเราะฮ์แรกของคือซูเราะฮ์อัลอะลัก บางท่านก็เชื่อว่าคือซูเราะฮ์ อัลมุดดัซซิรแต่ทัศนะที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือคือทัศนะของท่านซะมัคชะรีย์นักวิชาการผู้มีชื่อเสียงด้านอัล กุรอานที่เชื่อว่าซูเราะฮ์ที่ถูกประทานลงมาครบสมบูรณ์ทั้งซูเราะฮ์คือซูเราะฮ์ อัลฟาติหะฮ์ โดยมีหลักฐานจากรายงานฮะดิษจากอะบูมัยซะเราะฮ์ อัมร์ บิน ชัรฮะบีล ว่า : ครั้งหนึ่งเมื่อท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) อยู่เพียงลำพัง ท่านได้ยินเสียงเรียกทำให้ท่านเกิดอาการตื่นตระหนกและเป็นกังวล ครั้งสุดท้ายทูตสวรรค์ได้ร้องเรียกท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ว่า : โอ้มุฮัมมัด ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ)ขานรับเสียงเรียกดังกล่าวนั้น หลังจากนั้นเองทูตสวรรค์ได้กล่าวว่า โอ้มุฮัมมัด จงกล่าวตามฉันเถิด ด้วยพระนามแห่งอัลลอฮ์ผู้ทรงกรุณาเมตตาปราณีเสมอ ..... (จนจบซูเราะฮ์ฟาติหะฮ์) ส่วนซูเราะฮ์สุดท้ายที่ถูกประทานลงมาครบทั้งซูเราะฮ์ คือซูเราะฮ์ อัลนัศร์ ท่านอิบนิอับบาสกล่าวว่า : ซูเราะฮ์นัศร์ คือซูเราะฮ์สุดท้ายที่ถูกประทานลงมาโดยมีรายงานยืนยันถึงเรื่องดังกล่าวอย่างชัดเจน มีรายงานจากหนังสือ มะนาฮิลุลอิรฟาน ว่า : หลังจากที่ซูเราะฮ์ อัล นัศร์ ถูกประทานลงมา ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ได้อ่านซูเราะฮ์ดังกล่าวให้กับบรรดาสาวกได้ฟัง ทุกคนต่างมีสีหน้ายิ้มแย้มและอิ่มเอิบ แต่มีเพียงท่านอับบาสลุงของท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) เท่านั้นได้ร้องไห้ด้วยความโศกเศร้าทุกคนในที่นั้นรวมทั้งท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ได้ถามถึงสาเหตุของการร้องให้และความโศกเศร้าดังกล่าว ท่านอับบาสกล่าวตอบว่า : ฉันคิดว่า ซูเราะฮ์นี้คือการประกาศถึงวาระสุดท้ายของท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) าร ปรัชญาของการแบ่งอัล กุรอานเป็นซูเราะฮ์ บรรดานักวิชาการด้านอุลูมอัล กุรอานได้กล่าวถึงคุณประโยชน์ของการแบ่งอัล กุรอานให้เป็นซูเราะฮ์ต่าง ๆ ไว้ ซึ่งซูเราะฮ์ที่สั้นที่สุดคือซูเราะฮ์ อัลเกาซัร มีเพียง 3 โองการเท่านั้น และซูเราะฮ์ที่ยาวที่สุดคือ ซูเราะฮ์ อัล บะเกาะเราะฮ์ ซึ่งมี 286 โองการ ซึ่งจะขอนำเสนอเพียง 3 ข้อดังนี้ 1 - เพราะอัล กุรอานมีเรื่องราวและเป้าหมายที่ต้องการนำเสนอที่หลากหลาย : ในอัล กุรอานมีโองมากมายที่มีเนื้อหาและเป้าหมายที่แตกต่างกันไปซึ่งเนื้อหาดังกล่าวส่วนมากจะถูกแบ่งไปในรูปแบบของซูเราะฮ์ โองการที่มีเป้าหมายเดียวกันจะถูกรวบรวมไว้ในซูเราะฮ์เดียวกัน ตัวอย่างเช่น ซูเราะฮ์ นิสาอ์ จะกล่าวถึงเรื่องราวของที่เกิดขึ้นในอดีตที่เกี่ยวข้องกับบรรดาศาสดา 2 – เพื่อง่ายต่อการจดจำ : การแบ่งโองการอัล กุรอานในรูปแบบซูเราะฮ์ มีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดความสะดวกในการจดจำและการศึกษาค้นคว้า 3 – เพื่อปกป้องอัล กุรอานให้พ้นจากการบิดเบือนและเปลี่ยนแปลง : ด้านหนึ่งที่ถือเป็นความมหัศจรรย์ของอัล กุรอานคือการที่อัล กุรอานถูกแบ่งให้เป็นบทซูเราะฮ์ต่าง ๆ นี้เอง การแบ่งในรูปแบบดังกล่าวนี้เป็นสาเหตุทำให้อัล กุรอานถูกปกป้องรักษาไว้ ท่านผู้อ่านที่รักทั้งหลายอัล กุรอานกล่าวไว้ในโองการที่ 9 ซูเราะฮ์ ฮิจร์ อย่างชัดเจนว่า انا نحن نزلنا الذکر وانا له لحافظون แท้จริงเราได้ให้ข้อตักเตือน(อัล กุรอาน)ลงมา และแท้จริงเราเป็นผุ้รักษามันอย่างแน่นอน จากโองการข้างต้นอัล กุรอานมีผู้เป็นเจ้าของคือเอกองค์อัลลอฮ์ (ซบ.) และพระองค์เองคือผู้ทรงรักษาอัล กุรอานให้พ้นจากการถูกตัดทอนและเพิ่มเติมอย่างแน่นอน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้สนับสนุน