ทำไมชีอะฮฺจึงถือว่าค่อลิฟะฮฺต้องมาจากการแต่งตั้ง

เป็นที่ชัดเจนว่าอิสลามศาสนาที่บริสุทธิ์เป็นศาสนาแห่งสากลและต้องธำรงอยู่ตลอดไป ช่วงที่ศาสดา (ศ็อลฯ) มีชีวิตอยู่ท่านคือผู้นำ แต่หลังจากที่ท่านได้อำลาโลกไปแล้วแน่นอนอำนาจการเป็นผู้นำต้องมอบให้เป็นหน้าที่ของผู้ที่ดีที่สุดในหมู่ประชาชาติ
ปัญหาอยู่ที่ว่าตำแหน่งผู้นำภายหลังจากท่านศาสดา (ศ็อลฯ) เป็นการแต่งคตั้ง (หมายถึงเป็นบัญชาของอัลลอฮฺ (ซบ.) โดยท่านศาสดาเป็นผู้เลือกสรร) หรือว่าเป็นตำแหน่งที่อาศัยการเลือกตั้งของประชาชน มีสองทรรศนะดังนี้…
- ชีอะฮฺ เชื่อว่าอิมามผู้เป็นตัวแทนของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ต้องได้รับการแต่งตั้งจากอัลลอฮฺ (ซบ.) หรืออีกนัยหนึ่งพระองค์คือผู้กำหนดผู้ที่จะมาดำรงตำดังกล่าว
- สุนีย์ เชื่อว่าอิมามผู้เป็นตัวแทนของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ต้องมาจาการเลือกตั้งไม่ใช่แต่งตั้ง ประชาชนคือผู้เลือกสรรอิมามให้มาทำหน้าที่บริหารสังคมภายหลังจากท่านศาสดา
การดูแลรักษาสังคมเป็นสิ่งยืนยันว่าค่อลิฟะฮฺต้องมาจากการแต่งตั้ง
บรรดานักปราชญ์ฝ่ายชีอะฮฺ ได้รวบรวมหลักฐานจำนวนมากมายที่ยืนยันถึงความจำเป็นในการแต่งตั้งอิมามไว้ในตำราหลักความเชื่อของตน แต่ในหนังสือเล่มนี้สิ่งที่ต้องการกล่าวถึงคือ การวิเคราะห์เงื่อนไขของผู้ปกครองในสมัยของการประกาศศาสนาเพื่อเป็นเหตุผลสนับสนุนแนวความคิดของฝ่ายชีอะฮฺ
การวิเคราะห์ถึง การเมืองภายในและภายนอกอิสลามในช่วงการเผยแพร่สาส์น เป็นที่ยอมรับกันถ้วนหน้าว่าตัวแทนของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ต้องได้รับการแต่งตั้งจากอัลลอฮฺ (ซบ.) โดยผ่านท่านศาสดา (ศ็อลฯ) เนื่องจากทุกคนมองเห็นว่าอิสลามในยุคนั้นตกอยู่ท่ามกลางอันตรายสามด้านด้วยกันกาล่าวคือ อันตรายจากกษัตริย์แห่งกรุงโรม กษัตริย์แห่งอิหร่าน และบรรดาพวกกลับกลอกทั้งหลาย (มุนาฟิกีน) ทั้งหมดได้ทำการข่มขู่และคิดจะทำลายอิสลามตลอดเวลา ขณะเดียวกันเท่ากับเป็นการบีบบังคับให้ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ทำการแต่งตั้งตัวแทนทางการเมืองเพื่อเป็นผู้นำการต่อสู้กับศัตรูภายนอก และเพื่อนำประชาชนทั้งหมดให้ต่อสู้ไปในทิศทางเดียวกัน อีกทั้งเป็นการทำลายแผนการของศัตรูที่คิดจะมีมีอิทธิพลเหนืออิสลาม
คำอธิบายข้อกล่าวอ้างข้างต้น
ด้านหนึ่งของอันตรายเกิดจากอำนาจที่มาจากโรม ถือว่าเป็นมหาอำนาจในยุคนั้น โรมตั้งอยู่ทางทิศเหนือของแคว้นอาหรับพวกเขาได้สร้างปัญหาให้ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ต้องคิดตลอดเวลาและจนกระทั่งช่วงสุดท้ายแห่งชีวิตอันจำเริญท่านก็ไม่อาจหลุดพ้นความคิดของพวกโรมไปได้
การเผชิญหน้ากันเป็นครั้งแรกระหว่างทหารอิสลามกับทหารของคริสเตียนแห่งกรุงโรม เมื่อปี ฮ.ศ.ที่ ๘ บนพื้นแผ่นดินปาเลสไตน์ การเผชิญหน้ากันในครั้งนี้อิสลามได้สูญเสียบุคคลสำคัญไปถึงสามคนคือ ท่านญะอฺฟัรฺฎอยยารฺ ท่านซัยดฺ บินฮาริษะฮฺ และท่านอับดุลลอฮฺ บินรุวาฮะฮฺ การต่อสู้จบลงด้วยความปราชัยของอิสลาม
การถอนกำลังล่าถอยของทหารอิสลามเมื่อเผชิญหน้ากับกองทหารฝ่ายผู้ปฏิเสธ ทำให้กองทหารของกษตริย์กัยศัรฺเกิดได้ใจและวางแผนที่จะโจมตีอิสลามตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้เอง ในปี ฮ.ศ. ที่ ๙ ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) จึงได้ยกพลขนาดใหญ่เคลื่อนทัพไปยังชายแดนเมืองชาม เตรียมพร้อมการเผชิญหน้าในทุกรูปแบภายใต้การนำทัพของท่าน และในการเคลื่อนทัพครั้งนี้ฝ่ายอิสลามสามารถกอบกู้เกียรติยศและศักดิ์ศรีของตนกลับคืนมาได้ เป็นการมอบชีวิตทางการเมืองใหม่ให้กับสังคมอิสลามแม้จะเป็นไปด้วยความยากลำบากก็ตาม
แม้ว่าอิสลามจะได้รับชัยชนะ แต่มันก็ไม่อาจทำให้ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) สบายใจได้หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วันท่านศาสดาได้ล้มป่วยลง ขณะที่ป่วยอยู่นั้นท่านได้สั่งให้เคลื่อนทัพไปตึงกำลังไว้ที่ชายแดนเมืองชามอีกครั้ง ภายใต้การนำทัพของท่านอุซามะฮฺ
ศัตรูอีกด้านหนึ่งของอิสลามคือ กษัตริย์แห่งอิหร่านในสมัยนั้น คุสโรได้แสดงความรังเกียจเดียดฉันกับอิสลามมาตลอด ถึงขั้นฉีกสาส์นที่ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ส่งไปเชิญชวนสู่อิสลาม ขับไล่ทูตที่ศาสดาส่งไปพร้อมกับดูถูกเหยียดหยามออกจากพระราชวังอย่างไม่ใยดี อีกทั้งยังได้ส่งสาส์นไปถึงกษัตริย์แห่งเยเมนให้จับกุมท่านศาสดา ถ้าขัดขืนให้ สังหารทิ้งเสีย
ถึงแม้ว่ากษัตริย์คุสโรแห่งอิหร่านจะสิ้นพระชนม์ไปตั้งแต่สมัยที่ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ยังมีชีวิตอยู่ก็ตาม แต่ประเทศเยเมนก็ไม่ได้รับอิสระภาพยังคงเป็นเมืองขึ้นที่อยู่ในอาณัตของอิหร่านต่อไป อิหร่านไม่ได้ยินดีกับอำนาจการเติบโตของอิสลามแม้แต่นิดเดียวเพราะอิสลามยิ่งเติบโตความยิ่งใหญ่ของอิหร่านก็ลดน้อยลงตามลำดับ อิหร่านจึงไม่สามารถอดทนได้
ศัตรูด้านที่สาม จัดว่าเป็นศึกภายในที่เกิดจากบรรดาพวกกลับกลอก (มุนาฟิกีน) กลุ่มชนนี้ได้แฝงตัวอยู่ในสังคมอิสลามมาตลอด เปรียบเสมือนเป็นสายเลือดเส้นที่ห้าที่คอยก่อกวน สร้างความเสื่อมเสีย และก่อกบถในหมู่มุสลิมจนถึงขั้นที่ว่าพวกเขาตั้งใจเอาชีวิตของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) โดยได้วางแผนลอบสังหารท่านระหว่างทางไปตะบูกกับมะดีนะฮฺ พวกเขาได้พูดกันว่าการตายของท่านศาสดาเท่านั้นที่จะทำให้ขบวนการอิสลามยุติลง และสร้างความเสียหายได้อย่างทั่วถึง อัล-กุรอานกล่าวว่า
أَمْ يَقُولُونَ شَاعِرٌ نَّتَرَبَّصُ بِهِ رَيْبَ الْمَنُونِ
หรือพวกเขากล่าวว่า มุฮัมมัดเป็นกวี เราคอยภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นแก่เขา
อำนาจการสร้างความเสียหายของพวกมุนาฟิกีน (กลับกลอก) ได้ตั้งรกรากอย่างมั่นคงในสังคม ถึงขนาดที่อัล-กุรอาน ซูเราะฮฺอาลิอิมรอน นิซาอ์ มาอิดะฮฺ อันฟาล เตาบะฮฺ อังกะบูต อหฺซาบ มุฮัมมัด ฟัตห์ มุญาดะละฮฺ หะดีด มุนาฟิกีน และหัชร์ได้กล่าวถึงบทบาทของพวกเขาไว้
การมีศัตรูที่มีความแข็งแกร่งอยู่รอบด้าน ขณะอิสลามมีจำนวนน้อยนิดและเป็นสังคมที่เพิ่งจะเติบโตขึ้นมาใหม่ด้วยความยากลำบาก หลังจากนั้นท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ในฐานะผู้สถาปนาสังคมได้ทอดทิ้งสังคมไปโดยไม่มีการแต่งตั้งตัวแทนให้ทำหน้าที่ปกครองทั้งศาสนจักรและอาณาจักร
นักสังคมวิทยากล่าวว่า ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ต้องทำการแต่งตั้งผู้นำภายหลังจากท่าน ให้ดำรงหน้าที่แทนเพื่อขจัดปัญหาความขัดแย้งภายใน และเป็นแกนนำที่แข็งแรงในการสร้างเอกภาพและยืนหยัดต่อสู้กับศัตรู เหตุการณ์และภยันตรายต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับสังคม ดังนั้น หลังจากการจากไปของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) การที่ทุกเผ่าได้ออกมาเสนอว่าผู้นำต้องเป็นคนจากเผ่าของเราถือว่าไม่ถูกต้อง และเป็นไปไม่ได้ที่ท่านศาสดาจะไม่แต่งตั้งผู้นำไว้
นักปราชญ์ท่านหนึ่งได้กล่าวว่า สิ่งเดียวที่ท่านมุฮัมมัดได้ละเลยและก่อให้เกิดผลเสียมิใช่น้อยได้แก่การมิได้แต่งตั้งผู้สืบต่อจากท่าน คำว่าผู้สืบต่อนี้ภาษาอาหรับเรียกว่า ค่อลิฟะฮฺ ซึ่งเราเคยเรียกเพี้ยนเป็นกาหลิบ การที่ท่านมุฮัมมัดไม่ได้แต่งตั้งค่อลิฟะฮฺไว้ก็อาจเป็นเพราะท่านมีความถ่อมตน ถือว่าหน้าที่แต่งตั้งค่อลิฟะฮฺเป็นของอัลลอฮฺ มิใช่ของท่าน อย่างไรก็ตามเมื่อท่านสิ้นชีวิตลงโดยไม่มีผู้สืบทอดต่อก็ก่อให้เกิดปัญหาการคัดเลือกผู้เหมาะสม แม้จะได้มีการลงมติเลือกให้ อบูบักร์ เพื่อนสนิทของท่านเป็นค่อลิฟะฮฺ แต่ก็มีผู้ไม่พอใจมตินี้และเห็นควรให้อะลีบุตรเขยของท่านดำรงตำแหน่งค่อลิฟะฮฺมากกว่า พวกนี้ได้ชื่อว่า พรรคของอะลี หรือ ชีอะฮฺ ซึ่งในที่สุดก็แตกแยกออกมาเป็นนิกายใหม่ของศาสนาอิสลาม การแตกแยกดังกล่าวคงจะไม่เกิดขึ้นหากท่านศาสดาได้สั่งออกมาเด็ดขาดว่าจะให้ผู้ใดสืบต่อจากท่าน
คำพูดของนักสังคมวิทยาได้สนับสนุนความคิดของเราที่ว่า ผู้นำภายหลังจากท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ต้องได้รับการแต่งตั้งไม่ใช่มาจากการเลือกตั้ง
หลักฐานการแต่งตั้งของท่านศาสดา (ศ็อลฯ)
บนพื้นฐานดังกล่าวนี้จะเห็นว่าท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้ประกาศแต่งตั้งตัวแทนตั้งแต่วันแรกที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศาสดาจนกระทั่งวันสุดท้ายแห่งชีวิตอันจำเริญ ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้ประกาศแต่งตั้งตัวแทนพร้อมกับประกาศการเป็นศาสดาของท่านท่ามกลางหมู่เครือญาติชั้นใกล้ชิด และท่านได้ประกาศอีกครั้งท่ามกลางหมู่ชน ณ ฆ่อดีรคุม ดังนั้นตลอดอายุไขของท่านศาสดาท่านได้แต่งตั้งตัวแทนไว้เรียบร้อยแล้วดังที่กล่าวมาแล้วในบทต้น ๆ
เมื่อพิจารณาถึงเงื่อนไขของสังคมในยุคแรกของอิสลาม และหลักฐานที่ท่านศาสดาได้แต่งตั้งท่านอะลีไว้ ทำให้รู้ว่า การแต่งตั้งตำแหน่งค่อลิฟะฮฺเป็นสิ่งจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้สนับสนุน