ซูเราะฮฺก็อดรฺถูกประทานที่มักกะฮฺ มีทั้งสิ้น ๕ โองการ
ความประเสริฐของซูเราะฮ์
ชื่อของซูเราะฮฺเป็นตัวบ่งบอกได้ดีว่าซูเราะฮฺนี้ได้ถูกประทานลงมาในค่ำคืนก็อดรฺ (ค่ำคืนแห่งอานุภาพ) ที่มีความประเสริฐกว่าเดือนถึงหนึ่งพันเดือนเพราะว่าในคืนนี้จะมีมลาอิกะฮฺและรูห์ลงมา ซูเราะฮฺอัลก็อดฺรสามารถกล่าวได้ว่าเป็นมักกียะฮฺและมะดะนียะฮฺ เนื่องจากว่ามีริวายะฮฺ
จากอหฺลุลบัยตฺ (อ.)มากมายที่กล่าวถึงสาเหตุของการประทานซูเราะฮฺดังกล่าวซึ่งริวายะฮฺเหล่านั้นได้สนับสนุนการเป็นมะดะนียะฮฺของซูเราะฮฺ ริวายะฮฺกล่าวว่าท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้ฝันเห็นว่า บนีอุมัยยะฮฺอยู่บนมินบัรฺของท่าน ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) รู้สึกเศร้าและเสียใจเป็นอย่างยิ่ง อัลลอฮฺ (ซบ.)จึงได้ประทานซูเราะฮฺดังกล่าวลงมาเพื่อเป็นการปลอบใจ (กล่าวว่าค่ำคืนแห่งอานุภาพมีความประเสริฐและยิ่งใหญ่กว่าหนึ่งพันเดือนแห่งการปกครองของอุมัยยะฮฺ) หลังจากนั้นได้อธิบายความสำคัญของค่ำคืนแห่งอานุภาพ ความจำเริญและผลสะท้อนของมัน
ความประเสริฐของการอ่านซูเราะฮฺนี้
ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) กล่าวว่า “บุคคลใดอ่านซูเราะฮฺนี้ เขาจะได้รับผลบุญเท่ากับผู้ที่ถือศีลอดในเดือนรอมฎอน และดำรงอิบาดะฮฺในค่ำคืนอานุภาพตลอดทั้งคืน”
เป็นที่แน่ชัดว่าผลบุญที่ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้กล่าวนั้นหมายถึงผู้ที่อ่านอัล-กุรอานด้วยกับความเข้าใจ พร้อมทั้งได้ปฏิบัติตามอัล-กุรอาน ให้เกียรติ และนำเอาโองการต่างๆ ของอัล-กุรอานมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
بِِسْمِ اللَّهِ الرَّحْمَنِ الرَّحِيمِ
ด้วยพระนามแห่งอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตา ผู้ทรงปรานียิ่ง
إِنَّا أَنزَلْنَاهُ فِي لَيْلَةِ الْقَدْرِ
ความว่า “แท้จริงเราได้ประทานอัล-กุรอานลงมาในค่ำคืนก็อดร์”
คือเราได้ประทานอัลกุรอานที่เป็นมหัศจรรย์ลงมาในคืนแห่งการกำหนดและชี้ขาดกิจการต่าง ๆ และเป็นคืนอันมหาประเสริฐ ความหมายของการประทานอัลกุรอานลงมาคือการประทานลงมาจากอัลลูหฺอัลมะฮฺฟูซ สู่ชั้นฟ้าแห่งโลกดุนยา คือบัยตุลอิซซะฮฺจากนั้นญิบรีล อะลัยฮิสสลามจะเป็นผู้นำมาให้แก่ท่านร่อซูลุลลอฮฺศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม แล้วแต่วาระเหตุการณ์เป็นระยะเวลาทั้งสิ้น ๒๓ ปี
โองการแรกของซูเราะฮฺก็อดร์ ได้กล่าวว่า “เราได้ประทานอัล-กุรอานลงมาในค่ำคืนก็อดร์”
การใช้รูปประโยคว่า إِنَّا أَنزَلْنَاهُ (เราได้ประทานอัล-กุรอานลงมา)ได้บ่งชี้ถึงความยิ่งใหญ่ของคัมภีร์แห่งฟากฟ้าเล่มนี้ เพราะอัลลอฮฺได้นำเอาการประทานอัล-กุรอานไปเกี่ยวข้องกับพระองค์
คำสรรพนาม ه (เขา) ในโองการได้ย้อนกลับไปหาอัล-กุรอาน ต้องการบอกถึงการประทาน อัล-กุรอาน ซึ่งการประทานนั้นมีสองลักษณะกล่าวคือ การประทานอัล-กุรอานทั้งหมดในค่ำคืนแห่งอานุภาพ มิใช่บางส่วน สิ่งที่สนับสนุนคำกล่าวนี้คือ อัล-กุรอานได้ใช้คำว่า انزال หมายถึงการลงในครั้งเดียว หรือคราวเดียวกันทั้งหมด ซึ่งอัล-กุรอานไม่ได้ใช้คำว่า تنزيل ซึ่งหมายถึงการทยอยลงมาจนหมด โองการที่สนับสนุนความหมายดังกล่าวคือโองการที่กล่าวว่า
وَالْكِتَابِ الْمُبِينِ إِنَّا أَنزَلْنَاهُ فِي لَيْلَةٍ مُّبَارَكَةٍ
“ขอสาบานด้วยคัมภีร์อันชัดแจ้งแท้จริงเราได้ประทานอัลกุรอานลงมาในคืนอันจำเริญ” (ดุคอน :๓) จะพบว่าโองการได้กล่าวอย่างเฉียบพลันว่าพระองค์ได้ประทานคัมภีร์ทั้งหมดลงมาในคืนนั้นเพราะพระองค์ได้กล่าวสาบานต่อคัมภีร์ทั้งหมด หลังจากนั้นได้กล่าวว่าคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ที่เราได้กล่าวสาบานด้วยนั้น เราได้ประทานลงมาทั้งหมดในค่ำคืนที่จำเริญและทรงเกียรติ
อีกประเภทหนึ่งของการประทานคือการทยอยลงมาตลอด ๒๓ ปี (ตัดรีญี) อัล-กุรอานกล่าวว่า
وَقُرْآناً فَرَقْنَاهُ لِتَقْرَأَهُ عَلَى النَّاسِ عَلَى مُكْثٍ وَنَزَّلْنَاهُ تَنزِيلاً
“อัลกุรอาน เราได้แยกไว้อย่างชัดเจนเพื่อเจ้าจะได้อ่านแก่มนุษย์อย่างช้าๆและเราได้ประทานกุรอานลงมาเป็นขั้นตอน” (อิสรอ/๑๐๖)
وَقَالَ الَّذِينَ كَفَرُوا لَوْلَا نُزِّلَ عَلَيْهِ الْقُرْآنُ جُمْلَةًوَاحِدَةً كَذَلِكَ لِنُثَبِّتَ بِهِ فُؤَادَكَ وَرَتَّلْنَاهُ تَرْتِيلًا.
อีกโองการหนึ่งกล่าวว่า “และบรรดาผู้ปฏิเสธกล่าวว่าทำไมอัล-กุรอานทั้งหมดจึงไม่ถูกประทานลงมาแก่เขา (แน่นอนเราไม่ได้ประทานในครั้งเดียว) เพื่อเราจะทำให้หัวใจของเจ้ามั่นคงและหนักแน่นและ(ด้วยเหตุนี้เอง) เราได้จัดให้เป็นระเบียบเรียบร้อย”
ทั้งสองโองการได้กล่าวถึงการประทานอัล-กุรอานลงมาอย่างต่อเนื่องหมายถึงการทยอยลงมาอย่างเป็นขั้นตอนแต่โองการอัล-กุรอานที่กล่าวมาไม่ได้อธิบายว่าค่ำคืนแห่อานุภาพเป็นอย่างไรเพียงแค่อธิบายว่าอัล-กุรอานทั้งหมดได้ถูกประทานลงมาในเดือนรอมฎอนดังเช่นที่กลว่าว่า
شَهْرُ رَمَضَانَ الَّذِيَ أُنزِلَ فِيهِ الْقُرْآن
"เดือนรอมฎอนเป็นเดือนซึ่งอัล-กุรอานได้ถูกประทานลงมา"(บะก่อเราะฮฺ/๑๘๕)
สิ่งที่เข้าใจได้จากโองการที่กล่าวมาคือค่ำคืนแห่งอานุภาพเป็นหนึ่งในค่ำคืนของเดือนรอมฎอน แต่ว่าเป็นคืนไหนอัล-กุรอานมิได้กล่าวถึง ซึ่งสามารถเข้าใจได้จากริวายะฮฺเท่านั้น
อีกนัยหนึ่งสามารถกล่าวได้ว่า กุรอานทั้งหมดได้ถูกประทานลงมาในเดือนรอมฎอนตามความหมายของโองการข้างต้น
ซูเราะฮฺก็อดร์ได้กล่าวว่าเฉพาะค่ำที่อัล-กุรอานได้ถูกประทานลงมาเป็น ลัยละตุลก็อดร์ ซึ่งจุดประสงค์ของก็อดร์หมายถึงการลิขิต การกำหนด หรือขนาด ดังนั้นลัยละตุลก็อดร์จึงหมายถึงค่ำคืนแห่งการลิขิต หรือการกำหนดสภาวะ หมายถึงอัลลอฮฺ (ซบ.)ทรงลิขิตชะตาชีวิต และเหตุการณ์ต่างๆ สำหรับมนุษย์จากลัยละตุลก็อดร์ของปีนี้ไปจนถึงลัยละตุลก็อดร์ของปีหน้า ไม่ว่าจะเป็นการดำรงชีพ ความตาย ปัจจัยยังชีพ ความสุขการทดสอบและสิ่งอื่นๆ ที่คล้ายคลึงกัน
ซูเราะฮฺดุคอนอธิบายคุณลักษณะของค่ำคืนแห่งอานุภาพไว้ว่าดังนี้ว่า
فِيهَا يُفْرَقُ كُلُّ أَمْرٍ حَكِيمٍ أَمْرًا مِّنْ عِندِنَا إِنَّا كُنَّا مُرْسِلِينَ رَحْمَةً مِّن رَّبِّكَ
“ในคืนนั้นทุก ๆ ภารกิจที่สำคัญถูกจำแนกไว้ด้วยวิทยปัญญาเป็นบัญชาที่มาจากเรา แท้จริงเราเป็นผู้ส่งมา(มุฮัมมัด)ซึ่งเป็นความเมตตามาจากพระผู้อภิบาลของเจ้า” (ดุคอน ๓-๖)
ซึ่งคำว่า فَرَقََ นั้นหมายถึง การจำแนก หรือการกำหนดคุณลักษณะที่แน่นอนของๆสองสิ่งออกจากกันฉะนั้นการจำแนกทุกๆบัญชาที่เป็นวิทยปัญญานั้นไม่สามารถให้ความหมายเป็นอย่างอื่นได้นอกเสียจากว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นนั้นต้องถูกลิขิตและถูกกำหนดขนาดที่แน่นอนเอาไว้ซึ่งสามารถเข้าใจได้ว่า ลัยละตุลก็อดร์ นั้นต้องเป็นคืนที่อัล-กุรอานถูกประทานลงมาอย่างแน่นอนแต่ไม่ได้ หมายความว่าปีที่คืนของมันไม่มีอัล-กุรอานประทานลงมาจะไม่ใช่ลัยละตุลก็อดร์ เพราะเมื่อปีมีการเวียนซ้ำลัยละตุลก็อดร์ ก็มีการเวียนซ้ำเช่นกันฉะนั้นทุกๆเดือนรอมฎอนของทุกๆปีจันทรคติจึงต้องมีลัยละตุลก็อดร์ ซึ่งภายในคืนนั้นได้มีการกำหนดภารกิจต่างๆที่สำคัญเอาไว้จนกว่าจะถึงลัยละตุลก็อดร์ของปี แต่สิ่งนี้จะมีความเป็นไปได้แค่ไหนเพราะสิบสี่ศตวรรษที่ผ่านมา เฉพาะลัยละตุลก็อดร์เดียวเท่านั้นที่อัล-กุรอานถูกประทานลงมาขณะเดียวกันคำพูดที่ว่าในคืนนั้นทุกๆภารกิจที่สำคัญของศตวรรษนั้นและของอนาคตได้ถูกกำหนดไว้แล้วทั้งหมดจะมีความหมายอย่างไร นอกเหนือจากนี้คำว่า يفرقยังเป็นกริยาของปัจจุบันกาลที่บ่งบอกถึงความต่อเนื่องของงาน และซูเราะฮฺก็อดรฺเองได้กล่าวว่าลัยละตุลก็อดร์ประเสริฐกว่าเดือนถึง ๑๐๐๐ เดือน มะลาอิกะฮฺจะลงมาในค่ำคืนนั้นซึ่งคำพูดนี้เป็นการสนับสนุนทรรศนะดังกล่าวให้มีความถูกต้องมากยิ่งขึ้น
บางทรรศนะกล่าวว่าลัยละตุลก็อดร์ เป็นหนึ่งในสิบคืนสุดท้ายของเดือนรอมฎอนเป็นคืนที่อัล-กุรอานได้ถูกประทานลงมา และมันได้ผ่านไปแล้วโดยจะไม่มีการเวียนกลับมาอีก (ตับซีรฺ กุรฺฏุบี เล่มที่ ๒๐ หน้าที่ ๑๓๕)
บางทรรศนะกล่าวว่า ตราบเท่าที่ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) มีชีวิตอยู่ลัยละตุลก็อดร์ได้เวียนซ้ำทุกปี แต่หลังจากท่านศาสดา (ศ็อลฯ)ได้ดับขันธ์ไปแล้วอัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงถอดถอนลัยละตุลก็อดร์ออกไป (ตับซีรฺมัจมะอุ้ลบะยาน เล่มที่ ๑๐ หน้าที่ ๕๑๘)
นักตับซีรฺบางท่านกล่าวว่าลัยละตุลก็อดร์ เป็นค่ำคืนที่ถูกกำหนดไว้อย่างแน่นอนตลอดทั้งปีมิใช่เฉพาะเดือนรอมฎอน (ตับซีรฺ กุรฺฏุบี เล่มที่ ๒๐ หน้าที่ ๑๓๕)
บางท่านกล่าวว่า ลัยละตุลก็อดร์ เป็นค่ำคืนที่ปรากฏทุกๆ ปี เพียงแต่ไม่รู้ว่าเป็นคืนหนึ่งคืนไหนเท่านั้น ในปีของการแต่งตั้ง (บิอฺษัต) ลัยละตุลก็อดร์ ตรงกับเดือนรอมฎอน ส่วนในปีอื่นลัยละตุลก็อดร์ อาจตรงกับเดือนอื่นเช่น ตรงกับเดือนชะอฺบาน หรือเดือนซุลเกาะอฺดะฮฺ ( ตับซีรฺรูหุลมะอานี เล่มที่ ๓๐ หน้าที่๑๙๐)
บางท่านกล่าวว่า คำว่า ก็อดรฺ (قدر) หมายถึงฐานันดร ฉะนั้นถ้าคืนแห่งการประทานอัล-กุรอานคือลัยละตุลก็อดร์แล้วละก็นั่นหมายถึงการให้ความสำคัญแก่ค่ำคืน ซึ่งถือว่าเป็นเกียรติและเป็นฐานันดรอันสูงส่งของค่ำคืนดังกล่าว และถือว่าเป็นความพิเศษสำหรับผู้ที่ปฏิบัติอิบาดะฮฺในคืนนั้น (ตับซีรฺมัจมะอุลบะยานเล่มที่ ๑๐ หน้าที่ ๕๑๘)
บางท่านกล่าวว่า คำว่า ก็อดรฺ (قدر) หมายถึงความคับแคบ ดังนั้นที่เรียกว่า ลัยละตุลก็อดร์ เพราะว่าในคืนดังกล่าวจะมีมลาอิกะฮฺ ลงมาบนโลกทำเกิดความคับแคบไปหมด. (มัจมะอุลบะยาน เล่มที่ ๑๐ หน้าที่ ๕๑๘)
บทสรุปที่ได้จากการวิพากษ์ดังกล่าวคือ ลัยละตุลก็อดร์ เป็นค่ำคืนหนึ่งของเดือนรอมฎอนของทุกๆปี ซึ่งในแต่ละปีภารกิจที่สำคัญต่างๆ จะถูกกำหนดขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่ถูกกำหนดขึ้นแล้วจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ด้วยองค์ประกอบภายนอก ซึ่งถือว่าไม่มีความขัดแย้งกันแม้แต่นิดเดียวเพราะว่าขบวนการที่ทำให้เกิดการลิขิตเป็นสิ่งหนึ่ง ส่วนการเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ถูกลิขิตแล้วเป็นอีกสิ่งหนึ่ง เช่นกันถือว่าไม่มีความขัดแย้งกัน ถ้าสิ่งที่ถูกลิขิตไว้ในเลาหุลมะหฺฟูด จะถูกเปลี่ยนแปลงไปตามพระสงค์ของอัลลอฮฺ (ซบ.) ดังที่อัล-กุรอานกล่าว่า
يَمْحُو اللّهُ مَا يَشَاءُ وَيُثْبِتُ وَعِندَهُ أُمُّ الْكِتَابِ
“อัลลอฮฺทรงขจัดสิ่งที่พระองค์ทรงประสงค์ และทรงให้คงอยู่ ณ พระองค์คือ แม่แบบของคัมภีร์ (อัรฺ-เราะอฺดุ ๓๙)
นอกเหนือจากนี้แล้วการเกิดของสิ่งที่ถูกกำหนดไว้ย่อมเป็นไปตามขั้นตอน ซึ่งบางภารกิจมีเงื่อนไขในการเกิด แต่บางภารกิจนั้นไม่มี ตรงนี้อาจเป็นไปได้ว่าในลัยละตุลก็อดร์นั้น บางขั้นตอนของการเกิดอาจถูกลิขิตไว้แล้ว และอีกบางขั้นตอนอาจเป็นไปในเวลาอื่นที่เหมาะสม อย่างไรก็ตามมีริวายะฮฺอีกมากมายมีความขัดแย้งกับสิ่งที่กล่าวมา
ซูเราะฮฺดังกล่าวได้ถูกประทานลงมาในค่ำคืนแห่งอานุภาพ หมายถึงค่ำคืนที่ กฏเกณฑ์และชะตากรรมของมนุษย์ในอีกหนึ่งปีข้างหน้าได้ถูกกำหนดขึ้นในค่ำคืนนี้ และสิ่งนี้เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่บ่งบอกว่าอัล-กุรอานมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากกับวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์**
เมื่อนำเอาโองการดังกล่าวข้างต้นมาเทียบเคียงกับโองการในซูเราะฮฺบะก่อเราะฮฺ ได้บทสรุปว่า ค่ำคืนแห่งอานุภาพ (ลัยละตุลก็อดร์) นั้นได้ปรากฏในเดือนรอมฎอนอย่างแน่นอน แต่จะเป็นค่ำคืนไหนของเดือน ?
โองการอัล-กุรอานไม่ได้บอกโดยตรงว่า ค่ำคืนแห่งอานุภาพนั้นเป็นคืนไหน แต่เราสามรถเข้าใจได้จากริวายะฮฺของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ซึ่งริวายะฮฺได้กล่าวว่า ค่ำคืนแห่งอานุภาพนั้นอยู่ในช่วงสิบคืนสุดท้ายของเดือนรอมฎอน (๒๑-๓๐) แต่ริวายะฮฺส่วนมากที่เชื่อถือได้โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ได้กล่าวว่า ค่ำคืนแห่งอานูภาพนั้นเป็นค่ำคืนที่ยิ่สิบสามของเดือน
ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า “การเสนอข้อกำหนดต่างๆ ได้มีขึ้นในค่ำที่ ๑๙ การตัดสินข้อกำหนดเหล่านั้นได้มีขึ้นในค่ำที่ ๒๑ ส่วนการเซ็นรับรองได้มีขึ้นในค่ำที่ ๒๓”
จึงสรุปได้ว่าริวายะฮฺส่วนใหญ่เห็นพร้องตรงกันว่า ค่ำคืนแห่งอานุภาพนั้นตรงกับค่ำที่ ๒๓ ของเดือนรอมฎอน
وَمَا أَدْرَاكَ مَا لَيْلَةُ الْقَدْرِ
ความว่า “เจ้ารู้ไหม คืนอัลก็อดร์ นั้นคืออะไร”
โองการนี้อธิบายถึงความยิ่งใหญ่ของค่ำคืนแห่งอานุภาพจึงได้ถามว่า “เจ้ารู้ไหม คืนอัลก็อดร์ นั้นคืออะไร” เป็นการเน้นถึงความยิ่งใหญ่ที่แท้จริงของค่ำคืนนี้ แม้กระทั่งท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ผู้มีความรู้อย่างกว้างขวางก่อนที่โองการดังกล่าวจะถูกประทานลงมาท่านยังไม่ทราบเลยว่าค่ำคืนดังกล่าวเป็นค่ำคืนอะไร และมีความยิ่งใหญ่ขนาดไหน ประโยคข้างต้นเป็นการเป็นเน้นย้ำถึง ความยิ่งใหญ่ของ ก็อดรฺ พร้อมทั้งความประเสริฐและฐานันดรของมัน เพราะเป็นไปได้ที่จะใช้สรรพนามแทนชื่อเช่นกล่าวว่า
و ما ادريك ما هى، هى خير من الف شهر
แต่พระองค์กับกล่าวเรียกชื่อลัยละตุลก็อดร์ซ้ำว่า
وَمَا أَدْرَاكَ مَا لَيْلَةُ الْقَدْرلَيْلَةُ الْقَدْرِ خَيْرٌ مِّنْ أَلْفِ شَهْرٍ
ความว่า“เจ้ารู้ไหม คืนอัลก็อดร์ นั้นคืออะไร คืนอัลก็อดรฺนั้นดีกว่าเดือนถึงหนึ่งพันเดือน”
อัล-กุรอานได้ตอบคำถามของอัล-กุรอานโดยทันที่ว่าคืนดังกล่าวนั้นมีความประเสริฐกว่าเดือนถึงหนึ่งพันเดือน จุดประสงค์ที่กล่าวว่า ดีกว่าหนึ่งพันเดือน บรรดานักตับซีรฺ(ผู้อธิบายอัล-กุรอาน) ต่างกล่าวว่า หมายถึงความประเสริฐของการปฏิบัติอิาดะฮฺ ซึ่งคำอธิบายดังกล่าวนี้ตรงกับจุดมุ่งหมายของอัล-กุรอานเช่นกันเพราะสิ่งที่อัล-กุรอานประสงค์คือการชี้นำมนุษย์ไปสู่ความใกล้ชิดกับพระผู้เป็นเจ้า และด้วยกับการดำรงอิบาดะฮฺตลอดทั้งคืนนั้น ดีกว่าการดำรงอิบาดะฮฺถึงหนึ่งพันเดือนในเดือนอื่น ดังที่อัล-กุรอานซูเราะฮฺดุคอนได้กล่าวว่า
إِنَّا أَنزَلْنَاهُ فِي لَيْلَةٍ مُّبَارَكَةٍ“
แท้จริงเราได้ประทานอัล-กุรอานลงมาในค่ำคืนทีจำเริญ” ประกอบกับริวายะฮฺทั้งสุนีและชีอะฮฺได้กล่าวถึงคุณค่า และความประเสริฐของการอิบาดะฮฺในค่ำคืนนี้ไว้อย่างมากมาย ซึ่งเป็นสิ่งสนับสนุนคำพูดได้อย่างดี
นอกเหนือจากนี้แล้วการประทานอัล-กุรอานในคืนนี้ การประทานความจำเริญ ความเมตตา และความโปรดปรานของพระองค์ในคืนนี้ยังเป็นเหตุผลสนับสนุนได้อย่างดี และเป็นสาเหตุทำให้ค่ำคืนนี้มีความประเสริฐกว่าเดือนอื่นๆ ถึงหนึ่งพันเดือน
บางตัฟซีรฺกล่าวว่าท่านศาสดา (ศ็อลฯ) กล่าวว่า “ได้มีทหารของบนีอิสรออีลสวมใส่ชุดทำศึกสงคราม และพวกเขาไม่ถอดชุดนั้นเลยนานถึง ๑๐๐๐ เดือนซึ่งพวกเขาได้ทำสงคราม (หรือเตรียมพร้อม) เพื่อพระผู้เป็นเจ้า บรรดาศ่อฮาบะฮฺของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ตื่นเต้นมากพวกเขามีความรู้สึกว่าอยากเป็นเช่นนั้นบ้าง และมีความหวังว่าวันหนึ่งความประเสริฐนั้นคงตกมาถึงพวกเขาบ้าง ทันใดนั้นโองการซูเราะฮฺก็อดร์ก็ถูกประทานลงมาและบอกกับพวกเขาว่า “คืนอัลก็อดรฺนั้นดีกว่าเดือนถึงหนึ่งพันเดือน”
تَنَزَّلُ الْمَلَائِكَةُ وَالرُّوحُ فِيهَا بِإِذْنِ رَبِّهِم مِّن كُلِّ أَمْرٍ
ความว่า “บรรดามะลาอิกะฮฺและอัรฺรูห์จะลงมาในคืนนี้โดยอนุมัติแห่งพระผู้อภิบาลของพวกเขาเนื่องจากทุกกิจการ”
คำว่า تنزل รากเดิมคือคำว่า تتنزل เป็นกริยาปัจจุบันกาลบ่งบอกถึงความต่อเนื่องหมายถึงค่ำคืนแห่งอานุภาพไม่ได้เฉพาะเจาะจงอยู่แค่สมัยของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) และสมัยของการประทานอัล-กุรอานเท่านั้น แต่หมายถึงความต่อเนื่องและการเกิดขึ้นตลอดไปของค่ำคืนแห่งอานุภาพในทุกๆ ปี
จุดประสงค์ของรูห์ (روح) คือรูห์ที่มาจาก (عالم امر) โลกแห่งพระบัญชา อัลลอฮฺทรงกล่าวถึงรูห์ว่า
قُلِ الرُّوحُ مِنْ أَمْرِ رَبِّي“
จงบอกเถิดว่ารูห์นั้นมาจากพระบัญชาของพระผู้อภิบาลของฉัน” (อิสรอ/๘๕)
รูห์เป็นสิ่งถูกสร้างที่ยิ่งใหญ่และมีเกียรติสูงกว่าบรรดามลาอิกะฮฺทั้งหลาย หะดีษได้กล่าวว่ามีผู้ถามท่านอิมามซอดิก (อ.) ว่า รูห์ในที่นี้หมายถึงญิบรออีลใช่ไหม ?
ท่านอิมามซอดิก (อ.) ตอบว่า “ญิบรออีลนั้นเป็นหนึ่งในมวลมลาอิกะฮฺ ส่วนรูห์นั้นมีความยิ่งใหญ่กว่ามลาอิกะฮฺ อัลลอฮฺมิได้ตรัสหรือว่า เราได้ประทานมลาอิกะฮฺและรูห์ลงมา”
จุดประสงค์ของคำว่า مِّن كُلِّ أَمْرٍหมายถึงมลาอิกะฮฺได้ลงมาเพื่อกำหนดชะตาชีวิตของมนุษย์ และนำเอาสิ่งที่ดีพร้อมทั้งความจำเริญของค่ำคืนนั้นมามาให้มนุษย์ ซึ่งจุดประสงค์ที่บรรดามลาอิกะฮฺลงมาก็เพื่อปฏิบัติในภารกิจดังกล่าว
سَلَامٌ هِيَ حَتَّى مَطْلَعِ الْفَجْرِ
ความว่า“คืนนั้นมีความศานติจนกระทั่งรุ่งอรุณ”
ในค่ำคืนนี้อัล-กุรอานได้ถูกประทานลงมา การอิบาดะฮฺตลอดทั้งคืนมีคุณค่าเท่ากับเดือนถึงหนึ่งพันเดือน คุณความดีทั้งหลาย และความจำเริญแห่งพระผู้เป็นเจ้ายังได้ถูกประทานมาในค่ำคืนนี้ ฉะนั้นนอกจากความเมตตากรุณาอันเฉพาะเจาะจงของพระองค์ที่แผ่ปกคลุมเหนือปวงบ่าวทั้งหลายแล้ว มวลมลาอิกะฮฺและรูห์ ยังได้ลงมาในค่ำคืนนี้อีกต่างหาก
ด้วยเหตุนี้ค่ำคืนแห่งอานุภาจึงเป็นคืนที่มีความสันติและความจำเริญและเปี่ยมล้นไปด้วยความเมตตาตั้งแต่ตอนหัวค่ำจนถึงรุ่งอรุณของวันใหม่ ริวายะฮฺบางบทได้กล่าวว่าในค่ำคืนนี้ชัยฏอนจะถูกจับมัด อีกด้านหนึ่งเป็นคืนที่มีความสมบูรณ์ควบคู่กับสันติ
สรุปสิ่งที่ได้จากโองการ
คือ อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงกล่าวถึงคุณค่าและความดีของคืนอัลก็อดรฺไว้ ๓ประการด้วยกันคือ
๑.คืนอัลก็อดรฺนั้นเป็นคืนที่มีเกียรติและความดีงามมากหลายมีคุณค่าเท่ากับหนึ่งพันเดือน มุญาฮิดกล่าวว่า การทำความดี การถือศีลอดและการละหมาดกลางคืนในวันนั้นดียิ่งกว่าหนึ่งพันเดือน
๒.ในคืนวันนั้นบรรดามะลาอิกะฮฺและญิบรอรีลจะลงมาบนหน้าแผ่นดินด้วยอนุมัติแห่งพระเจ้าของพวกเขาอันเนื่องจากกิจการทุกๆสิ่งที่อัลลอฮฺทรงกำหนด และลิขิตในปีนั้นจนกระทั่งปีต่อไป
๓. ในคืนวันนั้นความศานติจะมีขึ้นตั้งแต่เริ่มของวันนั้นจนกระทั่งรุ่งอรุณ บรรดามะลาอิกะฮฺจะขอความศานติให้แก่บรรดามุอฺมินให้พ้นจากความชั่วร้ายต่าง ๆ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ดีนะ
ตอบลบ