3. การแสดงอำนาจที่ยิ่งใหญ่ (มะละกูต)แก่ท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) บางครั้งพระผู้เป็นเจ้าทรงเปิดประตูแห่งรัศมีสู่บรรดาตัวแทนของพระองค์ท่ามกลางสงครามระหว่างสัจธรรมกับอธรรม การข่มขู่และการถูกทำร้ายของผู้ที่อยู่ฝ่ายสัจธรรมและการบุกจู่โจมทำร้ายมวลผู้ศรัทธา ทรงให้พวกเขาได้ลิ้มรสหยดหนึ่งจากความเมตตาของพระองค์ เพื่อสร้างความมั่นใจและความยะกีนแก่มวลผู้ศรัทธาและบรรดาตัวแทนของพระองค์ อีกทั้งเป็นบทพิสูจน์หลักฐานความดื้อรั้นของพวกปฏิเสธการสำแดงโลกแห่งมะละกูตให้ท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ก็จัดอยู่ประเภทดังกล่าว ดังที่มีปรากฏในซูเราะฮ์อันอามว่า :
وَإِذْ قَالَ إِبْرَاهِيمُ لأبِيهِ آزَرَ أَتَتَّخِذُ أَصْنَامًا آلِهَةً إِنِّي أَرَاكَ وَقَوْمَكَ فِي ضَلالٍ مُبِينٍ (٧٤)وَكَذَلِكَ نُرِي إِبْرَاهِيمَ مَلَكُوتَ السَّمَاوَاتِ وَالأرْضِ وَلِيَكُونَ مِنَ الْمُوقِنِينَ (٧٥)فَلَمَّا جَنَّ عَلَيْهِ اللَّيْلُ رَأَى كَوْكَبًا قَالَ هَذَا رَبِّي فَلَمَّا أَفَلَ قَالَ لا أُحِبُّ الآفِلِينَ (٧٦)فَلَمَّا رَأَى الْقَمَرَ بَازِغًا قَالَ هَذَا رَبِّي فَلَمَّا أَفَلَ قَالَ لَئِنْ لَمْ يَهْدِنِي رَبِّي لأكُونَنَّ مِنَ الْقَوْمِ الضَّالِّينَ (٧٧)فَلَمَّا رَأَى الشَّمْسَ بَازِغَةً قَالَ هَذَا رَبِّي هَذَا أَكْبَرُ فَلَمَّا أَفَلَتْ قَالَ يَا قَوْمِ إِنِّي بَرِيءٌ مِمَّا تُشْرِكُونَ (٧٨)إِنِّي وَجَّهْتُ وَجْهِيَ لِلَّذِي فَطَرَ السَّمَاوَاتِ وَالأرْضَ حَنِيفًا وَمَا أَنَا مِنَ الْمُشْرِكِينَ (٧٩) 74.และจงรำลึกขณะที่อิบรอฮีมได้กล่าวแก่บิดาของเขา คืออาซัรว่า ท่านจะยึดถือเอาบรรดาเจว็ดเป็นที่เคารพสักการะกระนั้นหรือ?แท้จริงฉันเห็นว่าท่านและกลุ่มชนของท่านนั้นอยู่ในความหลงผิดอันชัดแจ้ง 75. และเช่นนั้น เราจะให้อิบรอฮีมเห็นอำนาจอันยิ่งใหญ่ ในบรรดาชั้นฟ้า และแผ่นดินและเพื่อเขาจะได้เป็นผู้หนึ่งในหมู่ผู้เชื่อมั่นทั้งหลาย 76. ครั้นเมื่อกลางคืนปกคลุมเขา เขาได้เห็นดาวดวงหนึ่ง เขากล่าวว่า นี้คือพระผู้อภิบาลของฉัน แต่เมื่อมันลับไป เขาก็กล่าวว่า ฉันไม่ชอบบรรดาสิ่งที่ลับไป 77. ครั้นเมื่อเขาเห็นดวงจันทร์กำลังขึ้นเขาก็กล่าวว่านี้คือพระผู้อภิบาลของฉัน แต่เมื่อมันลับไป แต่เมื่อมันลับไป เขาก็กล่าวว่า ถ้าพระเจ้าของฉันมิได้ทรงแนะนำฉันแล้ว แน่นอนฉันก็จะกลายเป็นคนหนึ่งในกลุ่มชนที่หลงผิด 78. ครั้นเมื่อเขาเห็นดวงอาทิตย์กำลังขึ้นเขาก็กล่าวว่า นี้แหละคือพระผู้อภิบาลของฉัน นี้แหละยิ่งใหญ่กว่าแต่เมื่อมันได้ลับไป เขาก็กล่าวว่า โอ้กลุ่มชนของฉัน! แท้จริงฉันขอปลีกตัวออกจากสิ่งภาคีทั้งหลาย(แก่อัลลอฮ์) 79. แท้จริงข้าพระองค์ขอผินหน้าของข้าพระองค์แด่ผู้ที่สร้างบรรดาชั้นฟ้า และแผ่นดินในฐานะผู้ใฝ่หาความจริง ผู้สวามิภักดิ์และข้าพระองค์มิใช่คนหนึ่งในหมู่ผู้ให้มีภาคีขึ้นนักอรรถาธิบายอัล-กุรอานมีมุมมองเกี่ยวกับเรื่องเล่าของท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.)สองทัศนะดังนี้ว่า : บ้างก็เชื่อว่าคำกล่าวของท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ในขณะที่ท่านเห็นดวงดาว ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์นั้นเป็นความสัจจริงที่ตั้งอยู่บนความเชื่อของท่าน จึงเป็นเหตุให้ท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) มีความเชื่อมั่นมากขึ้น และท่านก็ได้ยกเหตุผลและหลักการที่ชัดแจ้งกว่าแก่ชนชาติของท่าน (ตัฟซีร นะมูเนะฮ์ เล่ม 5 หน้า 311)บ้างก็เชื่อว่าเรื่องเล่านี้เป็นเพียงคำโต้ตอบให้อีกฝ่ายหยุดรับฟัง โดยที่ท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ได้แสดงตนให้สอดคล้องกับชนชาติของท่าน และได้อำพรางการศรัทธาที่แท้จริงของท่านไว้ เพื่อจะได้ดึงดูดให้พวกเขาสนใจท่านมากขึ้น และจะได้ทำให้พวกเขายอมรับฟังเหตุผลของท่าน ด้วยเหตุนี้ท่านจึงเข้าไปอยู่ร่วมกับพวกเขาและได้แสดงตนเหมือนกับพวกเขา (อิบนุอะษีร กอศอศุลอัมบิยาอ์ หน้า 156 อัลมีซาน เล่ม 7 หน้า 182-183) แต่ทว่าทั้งสองทัศนะ ไม่ได้บ่งชี้ถึงความลังเลในการศรัทธาต่อพระเจ้าองค์เดียวของท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) เลย เพราะตามทัศนะแรก การคิดไคร่ครวญในสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่มีอยู่นั้นเพื่อให้ได้รับมาซึ่งความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นและนำมาซึ่งเหตุผลที่ชัดแจ้งยิ่งขึ้น เหมือนดังที่ท่านมีศรัทธาต่อวันแห่งการฟื้นคืนชีพจนถึงขั้นของความเชื่อมั่นที่แท้จริงเมื่อครั้งได้เห็นนกที่ถูกเชือดกลับมีชีวิตอีกครั้ง ( บะเกาะเราะฮ์ โองการที่ 260) เหตุผลที่มายืนยันทัศนะนี้ก็คือโองการในช่วงต้นของโองการที่ 75 ของซูเราะฮ์ อันอามที่ว่า: وَكَذَلِكَ نُرِي إِبْرَاهِيمَ مَلَكُوتَ السَّمَاوَاتِ وَالأرْضِ وَلِيَكُونَ مِنَ الْمُوقِنِينَ และเช่นนั้น เราจะให้อิบรอฮีมเห็นอำนาจอันยิ่งใหญ่ ในบรรดาชั้นฟ้า และแผ่นดินและเพื่อเขาจะได้เป็นผู้หนึ่งในหมู่ผู้เชื่อมั่นทั้งหลาย กล่าวคือ : เราได้ทำให้ความชั่วร้ายของการกราบไหว้รูปปั้นของอาซัรและชนชาติของเขาแก่ท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) และเช่นกันเราก็ได้แสดงอำนาจอันยิ่งใหญ่ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) เป้าหมายของอำนาจแห่งชั้นฟ้าและแผ่นดิน คือ การได้เห็นอำนาจการปกครองและความเป็นเจ้าของของพระผู้เป็นเจ้าที่มีเหนือทุกสรรพสิ่ง และทุกสรรพสิ่งนั้นต้องพึ่งยังพระองค์ โดยที่ไม่มีผู้บริหารและผู้ดูแลใดในชั้นฟ้าและแผ่นดินนอกจากอัลลอฮ์ (ซบ.) จนกระทั่งท่านได้ไปถึงขั้นสูงสุดของความเชื่อมั่น(อัลมีซาน เล่ม 7หน้า 170 และตัฟซีรนะมูเนะฮ์ เล่ม 5 หน้า 308)ท่านอาซัร คือใคร ? ความหมายของคำว่า “อะบุน” ในพจนานุกรม คือ พ่อ ปู่ ลุง พ่อเลี้ยง และผู้ใหญ่ของบ้าน ส่วนคำว่า “วาลิด” ให้ความหมายอย่างเดียวเท่านั้นคือ “ พ่อบังเกิดเกล้า ” จากโองการอัล-กุรอานบ่งชี้ให้เห็นว่าท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) เรียกท่านอาซัรว่า “อะบุน” จนกระทั่งได้ขออภัยโทษให้แก่ท่าน แต่ภายหลังจากที่ชัดแจ้งว่าอาซัรยังคงบูชารูปปั้นต่อไปและเป็นศัตรูกับพระผู้เป็นเจ้า ศาสดาอิบรอฮีม (อ.) จึงออกห่างจากท่าน ดังที่มีปรากฏในซูเราะฮ์ เตาบะฮ์ ว่า : وَمَا كَانَ اسْتِغْفَارُ إِبْرَاهِيمَ لأبِيهِ إِلا عَنْ مَوْعِدَةٍ وَعَدَهَا إِيَّاهُ فَلَمَّا تَبَيَّنَ لَهُ أَنَّهُ عَدُوٌّ لِلَّهِ تَبَرَّأَ مِنْهُ إِنَّ إِبْرَاهِيمَ لأوَّاهٌ حَلِيمٌ “และการขออภัยโทษของอิบรอฮีมให้แก่บิดา(ลุงหรือบิดาเลี้ยง)ของเขามิได้ปรากฏขึ้น นอกจากเป็นสัญญาที่เขาได้ให้ไว้แก่บิดาของเขาเท่านั้น แต่เมื่อได้เป็นที่ประจักษ์แก่เขาแล้ว แท้จริงบิดาของเขาเป็นศัตรูของอัลลอฮ์ เขาก็ปลีกตัวออกจากบิดาของเขา แท้จริงอิบรอฮีมนั้นเป็นผู้อ่อนโยน และเป็นผู้มีขันติอดทน” (ซูเราะฮ์ เตาบะฮ์ โองการที่ 114) อีกด้านหนึ่งของอัล-กุรอานในช่วงที่ท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ชราภาพ ท่านได้ขอดุอาอภัยโทษจากอัลลอฮ์ (ซบ.)แก่ “วาลิดัย”ของท่านและบรรดาผู้ศรัทธา ท่านได้กล่าวว่า : رَبَّنَا اغْفِرْ لِي وَلِوَالِدَيَّ وَلِلْمُؤْمِنِينَ يَوْمَ يَقُومُ الْحِسَابُ “โอ้พระผู้อภิบาลของเรา ขอพระองค์ทรงอภัยโทษให้แก่ข้าพระองค์ และแก่บิดามารดาของข้าพระองค์และแก่บรรดาผู้ศรัทธา ในวันที่การสอบสวนจะมีขึ้น” (ซูเราะฮ์ อิบรอฮีม โองการที่ 41) ด้วยเหตุนี้อาซัรที่ศาสดาอิบรอฮีม (อ.) เรียกว่า “อะบุน” นั้นหาใช่บิดาผู้บังเกิดเกล้าไม่ เพราะตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่าภายหลังจากที่ท่านศาสดา (อ.) ได้ขออภัยโทษให้แก่อาซัร และหมดหวังจากการมีศรัทธาของเขาท่านจึงได้ปลีกตัวออกห่าง แต่สำหรับบิดาบังเกิดเกล้าท่านได้ขอดุอาให้แม้กระทั่งช่วงปลายชีวิตของท่าน ฉะนั้นอาซัรไม่ใช่ผู้เป็นบิดาบังเกิดเกล้าของท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) มีบันทึกในคัมภีร์เตารอตและอินญีลอีกทั้งหลักฐานทางประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า บิดาบังเกิดเกล้าของท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) มีนามว่า “ตารุห์”หรือ “ตารุค” (ตัฟซีรนะมูเนะฮ์ เล่ม 5 หน้า 305และตัฟซีรกะบีร) โดยไม่กล่าวถึงท่านอาซัรในฐานะบิดาบังเกิดเกล้า นอกจากนั้นเป็นที่รู้กันในหมู่ผู้ทั้งสายชีอะฮ์และซุนนะฮ์ว่า บรรดาศาสดาจะไม่กำเนิดมาจากบรรดาผู้ตั้งภาคีและไม่บริสุทธิ์ ดังที่มีรายงานจากท่านศาสดา (ศ็อลฯ) : “อัลลอฮ์ทรงให้ฉันเคลื่อนออกจากสันหลังของบิดาผู้บริสุทธิ์สู่มดลูกของมารดาผู้บริสุทธิ์ จนกระทั่งทรงให้ฉันออกสู่โลกใบนี้และพระองค์ไม่เคยให้ฉันต้องเปรอะเปื้อนกับสิ่งต่าง ๆ ในยุคอานารยชนเลย”
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น