5. ไฟถูกทำให้เย็นลงสำหรับศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ทุกครั้งที่เหล่าศัตรูพ่ายแพ้ต่อหลักฐานและเหตุผล พวกเขาก็จะเริ่มใช้อำนาจของตนเพื่อทำลายผู้ที่เชิญชวนสู่สัจธรรมเสมอ และทุกครั้งที่พวกเขาหมดหนทางที่จะใส่ร้ายป้ายสีและทำลายบุคลิกภาพของบุรุษแห่งพระผู้เป็นเจ้า พวกเขาก็จะใช้วิธีการข่มขู่และฆ่าสังหารบุรุษแห่งพระผู้เป็นเจ้าเสมอมา พวกพ้องของนิมรูดได้ตัดสินใจที่จะเผาท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) เพื่อแก้แค้นท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) และเพื่อช่วยเหลือเหล่าบรรดาพระเจ้าของพวกเขา เนื่องจากพวกเขาคิดว่าความผิดของท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) นั้นเป็นความผิดด้านสังคมทั่วไป จึงเรียกร้องให้ผู้คนทั้งหมดเข้าร่วมชมในการลงโทษครั้งนี้ด้วย ดังที่มีปรากฎในโองการอัล-กุรอานที่ว่า :
قَالُوا حَرِّقُوهُ وَانْصُرُوا آلِهَتَكُمْ إِنْ كُنْتُمْ فَاعِلِينَ
พวกเขากล่าวว่า “จงเผาเขาเถิด และจงช่วยเหลือพระเจ้าทั้งหลายของพวกท่าน หากพวกท่านจะกระทำ” (ซูเราะฮ์อัมบิยาอ์ โองการที่ 68)
ด้วยเหตุนี้ผู้คนจึงร่วมกันจัดหาฟืน หลังจากนั้นไม่นานนักพวกเขาก็ได้จัดหาฟืนได้กองใหญ่มหึมาและได้จุดไฟขึ้น บริเวณของกองไฟนั้นกว้างใหญ่จนต้องโยนท่านนบีอิบรอฮีม (อ.) ลงในกองไฟด้วยเครื่องยิงกระสุนในอดีต ผู้คนต่างพากันจัดงานเฉลิมฉลองและแสดงความปิติยินดีต่อกัน นิมรูดและบริวารต่างนั่งมองเหตุการณ์นี้อย่างใจจดใจจ่อ แต่ไม่นานนักทุกคนต่างก็พากันแปลกใจและนิ่งเงียบ พวกเขาเพ่งมองท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) เป็นสายตาเดียวกัน เมื่อครั้นท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) เข้าไปในกองไฟอย่างสงบมั่นและปลอดภัย นั่นก็เนื่องจากพระบัญชาของอัลลอฮ์ (ซบ.) ที่มีต่อไฟว่าให้ความร้อนของไฟนั้นเย็นลงและให้ความปลอดภัยแก่ท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.)
قُلْنَا يَا نَارُ كُونِي بَرْدًا وَسَلامًا عَلَى إِبْرَاهِيمَ
“เรา (อัลลอฮ์) กล่าวว่า “ไฟเอ๋ย ! จงเย็นลง และให้ความปลอดภัยแก่อิบรอฮีมเถิด” (ซูเราะฮ์ อัมบิยาอ์ โองการที่ 69) เมื่อไฟเย็นลงต่อสายตาทุกดวงของผู้คน เหตุการณ์ก็พลิกผันและทำให้แผนการของนิมรูดเป็นโมฆะ และทำให้ทุกคนต่างเห็นความยิ่งใหญ่ของท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) และอัลลอฮ์ (ซบ.) จนทำให้อำนาจการปกครองของนิมรูดต้องตกอยู่ในอันตรายดังที่พระองค์ตรัสไว้ว่า :
وَأَرَادُوا بِهِ كَيْدًا فَجَعَلْنَاهُمُ الأخْسَرِينَ
“และพวกเขาปราถนาแผนการทำลายอิบรอฮีม แต่เราก็บรรดาลให้พวกเขาเป็นพวกที่ขาดทุน” (ซูเราะฮ์อัมบิยาอ์ โองการที่ 70) การได้ประจักษ์ปาฏิหาริย์ด้วยสายตาเช่นนี้ย่อมทำให้จิตใจตื่นจากการหลับใหล ทำให้รับรู้ถึงพลานุภาพเหนือทุกสรรพสิ่งของอัลลอฮ์ (ซบ.) แต่เนื่องจากความทิฐิ ความดื้อรั้นอีกทั้งการตกเป็นทาสของพวกนิมรูด จึงเป็นสิ่งขวางกั้นพวกเขาออกจากหนทางแห่งสัจธรรมของท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) 6. ท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) กับนิมรูด การที่ศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ได้รับความปลอดภัยจากกองไฟ ทำให้ทุกคนตลึง และผู้ที่ตลึงกว่าทั้งหมดก็คือนิมรูด ซึ่งก่อนหน้านี้เขาเคยมองท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ว่าเป็นปุถุชนธรรมดาคนหนึ่ง หลังจากที่ท่านได้รับความปลอดภัยจากกองไฟยิ่งทำให้ท่านเป็นที่สนใจมากขึ้น และยิ่งทำให้ท่านต้องตกอยู่ในอันตราย ด้วยเหตุนี้นิมรูดจึงคิดแผนการณ์ โดยให้ท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) เข้าพบ แล้วถามท่านว่า : พระเจ้าของท่านนั้นคือใครกัน ที่ท่านได้เรียกร้องเชิญชวนให้ทำการนมัสการต่อพระองค์ ? นอกจากฉันแล้วยังมีพระเจ้าอื่นอีกหรือ ?ทำไมเจ้าจึงสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน ? ทำไมจึงทำลายรูปปั้นที่พวกเขาบูชา ? ใหนจงพูดมาซิว่าพระเจ้าของท่านคือใคร ?
อัล-กุรอานกล่าวถึงการสนทนาครั้งไว้ว่า :
أَلَمْ تَرَ إِلَى الَّذِي حَاجَّ إِبْرَاهِيمَ فِي رَبِّهِ أَنْ آتَاهُ اللَّهُ الْمُلْكَ إِذْ قَالَ إِبْرَاهِيمُ رَبِّيَ الَّذِي يُحْيِي وَيُمِيتُ قَالَ أَنَا أُحْيِي وَأُمِيتُ قَالَ إِبْرَاهِيمُ فَإِنَّ اللَّهَ يَأْتِي بِالشَّمْسِ مِنَ الْمَشْرِقِ فَأْتِ بِهَا مِنَ الْمَغْرِبِ فَبُهِتَ الَّذِي كَفَرَ وَاللَّهُ لا يَهْدِي الْقَوْمَ الظَّالِمِينَ
“เจ้า (มุฮัมมัด) มิได้มองดูผู้ที่โต้แย้ง อิบรอฮีมในเรื่องพระผู้อภิบาลของเขาดอกหรือ ? เนื่องจากอัลลอฮ์ได้ทรงประทานอำนาจแก่เขา ขณะที่อิบรอฮีมได้กล่าวว่า พระผู้อภิบาลของฉันนั้น คือ ผู้ที่ทรงให้เป็นและทรงให้ตายได้ เขากล่าวว่า ข้าก็ให้เป็นและให้ตายได้ อิบรอฮีมกล่าวว่า แท้จริงอัลลอฮ์นั้นทรงนำดวงอาทิตย์มาจากทิศตะวันออก ท่านจงนำมันมาจากทิศตะวันตกเถิด แล้วผู้ที่ปฏิเสธศรัทธา ก็งงงวยและอัลลอฮ์นั้นจะไม่ทรงชี้นำแก่เหล่าผู้อธรรม” (ซูเราะฮ์บะเกาะเราะฮ์ โองการที่ 258) ประเด็นที่จำเป็นต้องกล่าวถึงคือ เหล่าผู้ตั้งภาคีต่างก็มีความเชื่อต่อพระเจ้า แต่พวกเขาเชื่อในเรื่องการบริหารโลกว่ามีพระผู้อภิบาลหลายองค์ โดยยึดถือพระผู้อภิบาลแต่ละสิ่ง เช่น พระผู้อภิบาลแห่งดวงอาทิตย์ พระผู้อภิบาลแห่งดวงจันทร์ และพระผู้อภิบาลแห่งดวงดาว จนกระทั่งพวกเขาได้สร้างรูปปั้นต่าง ๆ ขึ้นมาจากหินและไม้เพื่อทำการนมัสการสิ่งเหล่านั้น และพวกเขาจะมอบทรัพย์สินเงินทองมากมายแก่รูปปั้นเหล่านั้น เพื่อต้องการความพึงพอใจจากรูปปั้น มีผู้มีอำนาจบารมีบางคน เช่น ฟิรอูนและนิมรูด จึงฉวยโอกาสจากความไม่รู้ของประชาชน โดยได้แนะนำตนเองว่าเป็นพระผู้อภิบาลสูงสุด (ซูเราะฮ์นาซิอาต โองการที่ 24) และแนะนำว่าเขาคือรูปปั้นที่มีชีวิต เพื่อเขาจะได้ครอบครองทรัพย์สินเงินทองของประชาชนไว้เองอีกทั้งเพื่อขยายอำนาจการปกครองของตน (อัลมีซาน เล่ม 2 หน้า 353-354) เหล่าบรรดาศาสดาแห่งพระผู้เป็นเจ้านอกจากจะเพียรพยายามที่ให้ประชาชนเข้าใจเรื่องรูปปั้นที่ไร้วิญญาณแล้วพวกท่านยังต่อสู้กับบรรดาฟิรอูน พวกนิมรูดและรูปปั้นที่มีชีวิตอื่น ๆ อีกทั้งเปิดโองการแสวงหาอำนาจของพวกเขา ทำลายความยิ่งใหญ่ของพวกเขาในสายตาของประชาชน และแสดงให้พวกเขารู้ถึงการไร้ความสามารถและศักยภาพของพวกเขา ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้คือการเผชิญหน้าของท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) กับนิมรูด แต่เนื่องจากนิมรูดประจักษ์ถึงการไร้ความสามารถของตนต่ออำนาจเร้นลับของท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) เขาจึงสั่งให้เนรเทศท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ออกจากเมือง เพื่อไม่ให้ผู้ใดปฏิบัติตามท่าน ท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ที่ได้เผยแพร่หลักการเอกานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าสู่สังคม จึงตัดสินใจอพยพเพื่อสานต่อเจตนารมณ์ของการเผยแพร่สาส์นของท่านต่อไป (ตัฟซีรนะมูเนะฮ์ เล่ม 13 หน้า 453)7.การอพยพของท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ภายหลังจากที่ท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ปลอดภัยจากกองไฟของนิมรูด ท่านก็ได้อพยพออกจากถิ่นฐานของท่านสู่ยังดินแดนแห่งปาเลสไตน์และเมืองชาม (นัจญาร อับดุลวะฮาบ กอศอศุลอัมบิยาอ์ หน้า 83 , อิบนุกะษีร กอศอศุลอัมบิยาอ์ หน้า 171) เป็นดินแดนที่อัล-กุรอานกล่าวถึงว่าเป็นดินแดนที่เปี่ยมด้วยความจำเริญว่า :
وَنَجَّيْنَاهُ وَلُوطًا إِلَى الأرْضِ الَّتِي بَارَكْنَا فِيهَا لِلْعَالَمِينَ
“และเราได้ให้เขา (อิบรอฮีม) และลูฏ รอดพ้นไปสู่แผ่นดินซึ่งเราได้ให้มีความจำเริญในแผ่นดินนั้นแก่บรรดาชาติต่าง ๆ” (ซูเราะฮ์อัมบิยาอ์ โองการที่ 71)การอพยพครั้งนี้เริ่มขึ้นเมื่อท่านศาสดาอิบรอฮีมหมดหวังจากประชาชน ทั้งหมดเป็นปรปักษ์และศัตรูกับท่าน นอกจากบางกลุ่มที่น้อยนิดเท่านั้น
قَدْ كَانَتْ لَكُمْ أُسْوَةٌ حَسَنَةٌ فِي إِبْرَاهِيمَ وَالَّذِينَ مَعَهُ إِذْ قَالُوا
لِقَوْمِهِمْ إِنَّا بُرَآءُ مِنْكُمْ وَمِمَّا تَعْبُدُونَ مِنْ دُونِ اللَّهِ كَفَرْنَا بِكُمْ وَبَدَا بَيْنَنَا وَبَيْنَكُمُ الْعَدَاوَةُ وَالْبَغْضَاءُ أَبَدًا حَتَّى تُؤْمِنُوا بِاللَّهِ وَحْدَهُ إِلا قَوْلَ إِبْرَاهِيمَ لأبِيهِ لأسْتَغْفِرَنَّ لَكَ وَمَا أَمْلِكُ لَكَ مِنَ اللَّهِ مِنْ شَيْءٍ رَبَّنَا عَلَيْكَ تَوَكَّلْنَا وَإِلَيْكَ أَنَبْنَا وَإِلَيْكَ الْمَصِيرُ
“แน่นอนได้มีแบบอย่างอันดีงามสำหรับพวกเจ้าแล้วใน (ตัว) อิบรอฮีม และบรรดา (มุอ์มิน) ผู้ที่อยู่ร่วมกับเขา เมื่อพวกเขากล่าวแก่หมู่ชนของพวกเขาว่า แท้จริงพวกเราขอปลีกตัวจากพวกท่านและสิ่งที่พวกท่านเคารพบูชาอื่นจากอัลลอฮ์ เราขอปฏิเสธศรัทธาต่อ (ศาสนาของ) พวกท่าน และการเป็นศัตรูและการเกลียดชังระหว่างพวกเรากับพวกท่านได้ปรากฎขึ้นแล้ว (และจะคงอยู่) ตลอดไปจนกว่าพวกท่านจะศรัทธาต่ออัลลอฮ์องค์เดียว นอกจากคำกล่าวของอิบรอฮีมแก่บิดาของเขา (ที่ว่า) แน่นอนฉันจะขออภัยโทษให้แก่ท่านทั้งๆ ที่ฉันไม่มีอำนาจอันใดจะช่วยท่าน (ให้พ้นจากการลงโทษ) จากอัลลอฮ์ได้ ข้าแต่พระเจ้าของเราแด่พระองค์ท่านเราขอมอบหมายและยังพระองค์ท่านเท่านั้น เราขอลุแก่โทษ และยังพระองค์ท่านเท่านั้นคือการกลับไป” (ซูเราะฮ์มุมตะฮินะฮ์ โองการที่ 4) ผู้นำในสังคมมีเพียงท่านศาสดาลูฏ (อ.) เท่านั้นที่มีศรัทธาต่อท่าน และร่วมเดินทางอพยพกับท่าน
فَآمَنَ لَهُ لُوطٌ وَقَالَ إِنِّي مُهَاجِرٌ إِلَى رَبِّي إِنَّهُ هُوَ الْعَزِيزُ الْحَكِيمُ
“ดังนั้นลูฏได้ศรัทธาต่อเขา และเขา (อิบรอฮิม) กล่าวว่า แท้จริงฉันอพยพไปหาพระเจ้าของฉันแท้จริงพระองค์คือผู้ทรงอำนาจ ผู้ทรงปรีชาญาณ”(ซูเราะฮ์อันกะบูต โองการที่ 26) ท่านศาสดา (อ.) มีความหวังอย่างแรงกล้าว่าจะได้รับการชี้นำจากพระผู้อภิบาลในการอพยพครั้งนี้ และสามารถที่จะเผยแพร่สาส์นอีกทั้งปฏิบัติภาระหน้าที่ในการเผยแพร่ในพื้นที่ที่เหมาะสมกว่า
وَقَالَ إِنِّي ذَاهِبٌ إِلَى رَبِّي سَيَهْدِينِ
“และ(อิบรอฮีม)กล่าวว่า “ฉันจะไปหาพระผู้อภิบาลของฉัน แน่นอนพระองค์จะทรงชี้นำให้แก่ฉัน”(ซูเราะฮ์ศอฟฟาต โองการที่ 99)
8. การมีบุตรในช่วงวัยชรา ความโปรดปรานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของพระผู้เป็นเจ้าที่มีต่อท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) คือการมีบุตรในช่วงวัยชรา ดังที่มีปรากฏในอัล-กุรอานว่า :
الْحَمْدُ لِلَّهِ الَّذِي وَهَبَ لِي عَلَى الْكِبَرِ إِسْمَاعِيلَ وَإِسْحَاقَ إِنَّ رَبِّي لَسَمِيعُ الدُّعَاءِ
“การสรรเสริญเป็นของอัลลอฮ ผู้ได้ประทานอิสมาอีลและอิสฮากแก่ข้าพระองค์ ขณะที่ข้าพระองค์อยู่ในวัยชราแท้จริงพระเจ้าของข้าพระองค์เป็นผู้ทรงได้ยินการวิงวอนอย่างแน่นอน” ได้รับประโยชน์จากโองการนี้เป็นอย่างดีว่าท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) มีบุตรสองคนในช่วงวัยชรา ซึ่งบุตรคนหนึ่งมีนามว่า “อิสมาอีล” และอีกคนหนึ่งมีนามว่า “อิสฮาก” เรื่องเล่าของความโปรดปรานทั้งสองจากพระผู้เป็นเจ้านี้เกิดขึ้นภายหลังจากที่ท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ขอพรจากพระผู้เป็นเจ้า เรื่องมีอยู่ว่า : ท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) มีภรรยาท่านหนึ่งชื่อว่า “ซาเราะฮ์” ซึ่งทั้งสองได้ใช้ชีวิตร่วมกันมาเป็นเวลาช้านาน แต่ก็ไม่ยังไม่มีบุตรด้วยกันสักที และทั้งสองก็ยังมีความหวังว่าจะมีบุตรด้วยกันแม้ว่าจะชราแล้วก็ตาม และเมื่อพระนางซาเราะฮ์ได้เสนอว่าจะมอบทาสหญิงคนหนึ่งที่มีชื่อว่า “ฮาญัร”แก่ท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) รับข้อเสนอของพระนางซาเราะฮ์ และในที่สุดก็มีบุตรกับพระนางฮาญัรคนหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า “อิสมาอีล” หลังจากนั้นหลายปีเทวทูตของพระผู้เป็นเจ้าก็ได้นำข่าวดีของการจะมีบุตรที่มีชื่อว่า “อิสฮาก” แก่พระนางซาเราะฮ์ ซึ่งเป็นช่วงที่เหล่าเทวทูตได้รับมอบหมายให้ลงโทษชนชาติลูฏ ดังที่มีปรากฏในซูเราะฮ์ฮูดว่า :
وَلَقَدْ جَاءَتْ رُسُلُنَا إِبْرَاهِيمَ بِالْبُشْرَى قَالُوا سَلامًا قَالَ سَلامٌ فَمَا لَبِثَ أَنْ جَاءَ بِعِجْلٍ حَنِيذٍ (٦٩)فَلَمَّا رَأَى أَيْدِيَهُمْ لا تَصِلُ إِلَيْهِ نَكِرَهُمْ وَأَوْجَسَ مِنْهُمْ خِيفَةً قَالُوا لا تَخَفْ إِنَّا أُرْسِلْنَا إِلَى قَوْمِ لُوطٍ (٧٠)وَامْرَأَتُهُ قَائِمَةٌ فَضَحِكَتْ فَبَشَّرْنَاهَا بِإِسْحَاقَ وَمِنْ وَرَاءِ إِسْحَاقَ يَعْقُوبَ (٧١)قَالَتْ يَا وَيْلَتَا أَأَلِدُ وَأَنَا عَجُوزٌ وَهَذَا بَعْلِي شَيْخًا إِنَّ هَذَا لَشَيْءٌ عَجِيبٌ (٧٢)قَالُوا أَتَعْجَبِينَ مِنْ أَمْرِ اللَّهِ رَحْمَةُ اللَّهِ وَبَرَكَاتُهُ عَلَيْكُمْ أَهْلَ الْبَيْتِ إِنَّهُ حَمِيدٌ مَجِيدٌ .
และแน่นอนบรรดาทูตของเราได้มายังอิบรอฮีมพร้อมทั้งข่าวดี พวกเขากล่าวว่า “ขอความศานติจงมีแด่ท่าน” เขา(อิบรอฮีม) กล่าวว่า ”ขอความศานติจงมีแด่พวกท่าน” ดังนั้นเขามิได้รีรอที่จะนำลูกวัวย่างออกมา ครั้นเมื่อเขาเห็นว่ามือของพวกเขาไม่แตะต้องอาหาร เขาไม่พอใจและรู้สึกกลัวพวกเขา พวกเขากล่าวว่า “อย่ากลัวเลย แท้จริงเราถูกส่งมายังกลุ่มชนของลูฏ” และภรรยาของเขายืนอยู่แล้วนางก็หัวเราะ เราจึงแจ้งข่าวดีแก่นางด้วย(การได้บุตรชื่อ) อิสฮาก และหลังจากอิสฮากคือยะอ์กูบ นางกล่าวว่า “โอ้ แปลกแท้ ๆ ฉันจะมีบุตรหรือ ขณะที่ฉันแก่แล้ว และนี่สามีของฉันก็แก่แล้ว แท้จริงนี่เป็นเรื่องประหลาดแท้ พวกเขากล่าวว่า “เธอแปลกใจต่อพระบัญชาของอัลลอฮ์หรือ? ความเมตตาของอัลลอฮ์และความจำเริญของพระองค์จงประสบแด่พวกท่านโอ้ครอบครัว (ของอิบรฮีม) แท้จริงพระองค์นั้นเป็นผู้ได้รับการสรรเสริญ ผู้ทรงประเสริฐยิ่ง” (ซูเราะฮ์ฮูด โองการที่ 69-73) การเชือดที่ยิ่งใหญ่ การดำเนินชีวิตของท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) นั้นเปี่ยมไปด้วยความรักอันบริสุทธิ์และการเชื่อฟังภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้าแห่งสากลโลก ท่านไม่เคยเหน็ดเหนื่อยจากการเชิญชวนสู่เอกานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า และท่านได้ฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ ด้วยชีวิต ความรักที่มีต่อภรรยา บุตร ครอบครัวและเผ่าพันธ์ก็ไม่อาจที่จะหยุดยั้งในการที่ไปถึงยังสถานภาพความใกล้ชิดต่อพระผู้เป็นเจ้าของท่านได้เลย ตลอดช่วงชีวิตของท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ชี้ให้เห็นเป็นอย่างดีแล้วว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับท่าน ไม่ว่าจะในยามทุกข์ยากหรือยามสุข คือการเชื่อฟังภักดีต่อบัญชาของพระผู้เป็นเจ้า หนึ่งในชีวะประวัติของท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ที่ทำให้ชื่อของท่านก้องอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ ที่ทุกปีมวลบ่าวนับล้านคนต้องรำลึกถึงเรื่องราวของท่านในมักกะฮ์ มีนาและอะรอฟาต นั่นก็คือเรื่องการเชือดที่ยิ่งใหญ่ของท่านศาสดาอิบรอฮีม(อ.) เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่บุตรชายของท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) เข้าสู่วัยหนุ่ม เป็นบุตรชายที่เกิดมาในช่วงวัยชราและเป็นบุตรชายที่รอคอยมาเป็นเวลาช้านาน และแล้วก็มีข่าวจากพระผู้เป็นเจ้าแจ้งแก่ท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ว่า :
فَبَشَّرْنَاهُ بِغُلامٍ حَلِيمٍ (١٠١)فَلَمَّا بَلَغَ مَعَهُ السَّعْيَ قَالَ يَا بُنَيَّ إِنِّي أَرَى فِي الْمَنَامِ أَنِّي أَذْبَحُكَ فَانْظُرْ مَاذَا تَرَى... 101.
ดังนั้น เราจึงแจ้งข่าวดีแก่เขา (ว่าจะได้) ลูกคนหนึ่ง ที่มีความอดทนขันติ (คือ อิสมาอีล) ครั้นเมื่อเขา (อิสมาอีล) เติบโตขึ้นไปไหนมาไหนกับเขา (อิบรอฮีม) ได้แล้ว อิบรอฮีมได้กล่าวขึ้นว่า “โอ้ลูกเอ๋ย ! แท้จริงพ่อได้เห็นในขณะฝันว่า พ่อได้เชือดเจ้า จงคิดดูซิว่าเจ้าจะเห็นเป็นอย่างไร? (ซูเราะฮ์ศอฟฟาต โองการที่ 101-102) เมื่อบุตรชายวัยหนุ่มได้ฟังความฝันที่สัจธรรมของผู้เป็นบิดา ได้เตรียมพร้อมตัวเองเพื่อปฏิบัติตามคำบัญชาของพระผู้เป็นเจ้า ด้วยความอดทนขันติตามการแจ้งข่าวของพระผู้เป็นเจ้าที่ว่า “ลูกคนหนึ่งที่มีความอดทนขันติ” และแล้วก็ได้กล่าวแก่ผู้เป็นบิดาว่า :
قَالَ يَا أَبَتِ افْعَلْ مَا تُؤْمَرُ سَتَجِدُنِي إِنْ شَاءَ اللَّهُ مِنَ الصَّابِرِينَ เขากล่าวว่า “โอ่พ่อจ๋า! พ่อจงปฏิบัติตามที่พ่อได้ถูกบัญชามาเถิด หากอัลลอฮ์ทรงประสงค์ พ่อจะเห็นฉันว่า ฉันอยู่ในหมู่ผู้มีความอดทน”(ซูเราะฮ์ศอฟฟาต โองการที่ 102) เมื่อทั้งสองยอมจำนนต่อพระบัญชาของพระผู้เป็นเจ้า ผู้เป็นบิดาก็ยอมตัดใจจากบุตรชายสุดที่รักของท่าน ผู้เป็นบุตรก็ยอมเสียสละชีวิตของตน และแล้วการปฏิบัติตามคำบัญชาก็เริ่มขึ้น :
فَلَمَّا أَسْلَمَا وَتَلَّهُ لِلْجَبِينِ
“ครั้นเมื่อทั้งสอง (บิดาและบุตร) ได้ยอมมอบตน (แด่อัลลอฮ์) อิบรอฮีมได้ให้อีสมาอีลคว่ำหน้าลงกับพื้น” (ซูเราะฮ์ศอฟฟาต โองการที่ 103)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น