ความประเสริฐของซูเราะฮฺ อิคลาศฺ
ซูเราะฮฺอิคลาศฺ เป็นซูเราะฮฺที่ดีที่สุด ได้มีริวายะฮฺแนะนำไว้ว่า ในหนึ่งวัน นมาซในหนึ่งระกะอัตควรอ่านซูเราะฮฺอัต-เตาฮีด ทั้งนี้เพื่อท่านจะได้เป็นผู้ดำรงนมาซอย่างแท้จริง
ซูเราะฮฺอัต-เตาฮีด มีความประเสริฐเท่ากับ ๑ ใน ๓ ของอัล-กุรอาน และหมายรวมไปถึง ๑ ใน ๓ ของคัมภีร์เตารอต อินญีล และซะบูรฺ และซูเราะฮฺนี้มิได้ถูกแนะนำในอ่านเฉพาะในนมาซเท่านั้นทว่าหลังจากนมาซก็ถูกแนะนำให้อ่านด้วยเช่นกันในฐานะของการซิกรฺหลังนมาซ ผลบุญของการอ่านอัลลอฮฺ (ซบ.) จะประทานความเมตตาให้กับผู้อ่านทั้งโลกนี้และโลกหน้า
แม้ว่าซูเราะฮฺอัต-เตาฮีด จะเป็นซูเราะฮฺเล็ก ๆ แต่ทว่าความหมายของมันยิ่งใหญ่ยิ่งนัก ท่านอิมามสัจญาด (อ.) กล่าวว่า “อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงหยั่งรู้ถึงอนาคตว่า จะมีผู้มีความลุ่มลึกและมีความละเอียดอ่อน พระองค์จึงได้ประทานซูเราะฮฺนี้ และโองการแรกของซูเราะฮฺ อัล-หะดีด ลงมา”
การอ่านซูเราะฮฺ อัต-เตาฮีด ซ้ำเป็นประจำจะทำให้รอดพ้นจากความชั่วร้ายของผู้อธรรมที่มีความประพฤติเลวร้าย และเป็นหลักประกันให้บ้านหลังนั้นรอดพ้นจากอันตรายต่าง ๆ
สะอฺ อิบนิ มะอาซ สหายท่านหนึ่ง และเป็นแม่ทัพของท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ร่างของท่านได้ถูกฝังอยู่ที่สุสานญันนะตุลบะกีย์ นครมะดีนะฮฺ ในพิธีฝังศพนั้น ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ได้เดินเท้าเปล่าร่วมแห่ศพไปด้วย และท่านกล่าวว่า “ได้มีมะลาอิกะฮฺ จำนวน ๙๐,๐๐๐ องค์ ลงมาร่วมแห่ศพของสะอฺด์ ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) กล่าวว่าฉันได้ถามญิบรออีลว่า ทำไมท่านและมะลาอิกะฮฺองค์อื่น ๆ จึงได้ลงมาร่วมแห่ศพของสะอฺด์ ? ญิบรออีลได้กล่าวตอบว่า เป็นเพราะว่าเขาได้อ่านซูเราะฮฺ อัต-เตาฮีดเป็นประจำ ไม่ว่าเขาจะยืน จะกิน จะนั่ง หรือขณะขับขี่ยานพาหนะ”
สาเหตุของการประทานซูเราะฮฺ อัต-เตาฮีด สืบเนื่องมาจากว่า บรรดายะฮูดี คริสเตียน และบรรดามุชริกีน ได้สอบถามท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) เกี่ยวกับอัลลอฮฺ (ซบ.) และต้องการให้ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) อธิบายคุณลักษณะของพระองค์ ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ได้ตอบพวกเขาโดยการอ่านซูเราะฮฺ อัตเตาฮีด ดังนั้น ซูเราะฮฺนี้จึงเปรียบเสมือนบัตรประจำองค์ของอัลลอฮฺ (ซบ.)
قُلْ هُوَ اللَّهُ أَحَدٌ
“จงประกาศเถิด อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงเป็นหนึ่งเดียว”
เตาฮีด คือ แก่นแท้ของพื้นฐานทางศาสนาทุกศาสนา ซึ่งบรรดาศาสดาทุกองค์ ได้ถูกประทานลงมาเพื่อถอดถอนการตั้งภาคี (ชิกรฺ) และการบูชาเทวรูปในศาสนาต่าง ๆ ออกไปพร้อมกับเชิญชวนมนุษย์ไปสู่การเคารพภักดีต่อพระเจ้าองค์เดียว
เตาฮีด คือ จิตวิญญาณของการอบรมสั่งสอนของบรรดาศาสดาทั้งหลาย ฉะนั้น เตาฮีดมิได้ถูกจำกัดอยู่แค่เรื่องของความเชื่อศรัทธา แต่ทว่าเรื่องของการปฏิบัติ และจริยธรรมก็มีเตาฮีดครอบคลุมอยู่ด้วยเช่นกัน
เตาฮีด คือ พรมแดนระหว่างความศรัทธา กับ การปฏิเสธ และการบรรลุไปสู่จุดสุดยอดของอีมาน ถ้าปราศจากการยอมรับบนเตาฮีด ถือว่าเป็นไปไม่ได้ ริวายะฮฺกล่าวว่า . “คือป้อมปราการแห่งอัลลอฮฺ (ซบ.) ถ้าผู้ใดได้เข้ามาสู่ป้อมปราการของข้า ฯ เขาจะปลอดภัยจากการลงโทษของข้า ฯ” (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๓ หน้าที่ ๑๓)
ซูเราะฮฺอัตเตาฮีด ถือว่าเป็นความบริสุทธิ์ที่สุดบนความศรัทธาที่มีต่อความเป็นเอกะของพระองค์ ด้วยเหตุนี้ซูเราะฮฺนี้จึงถูกเรียกอีกอย่างว่า ซูเราะฮฺอิคลาศ เพราะซูเราะฮฺนี้ได้ทำการปฏิเสธความเชื่อของคริสเตียน ที่เกี่ยวกับ พระบุตร พระจิต และพระวิญญาณ ปฏิเสธการตั้งภาคีของบรรดายะฮูดี และความเชื่อแบบอารยชนของอาหรับในยุคก่อน ที่เชื่อว่ามวลมะลาอิกะฮฺ คือบุตรีของพระผู้เป็นเจ้า
เตาฮีด คือการทำให้ความคิด และการกระทำของตนปลอดพ้นจากการตั้งภาคี และสรรหาสิ่งอื่นใดมาเทียบเคียงกับอัลลออฺ (ซบ.) และไม่ใช่เฉพาะการตั้งภาคีทางความคิด และทางการกระทำเท่านั้น ทว่าเจตนารมณ์และเป้าหมายของเราคือ อัลลอฮฺ (ซบ.) แต่เพียงผู้เดียว หมายถึง พระองค์เท่านั้นที่ทรงเป็นหนึ่งเดียว โดยไม่มีที่สอง ไม่มีสิ่งคล้ายคลึง หรือเสมอเหมือน ไม่มีส่วนประกอบและองค์เรือนร่าง เฉพาะพระองค์เท่านั้นที่เป็นที่เคารพภักดี และมีอยู่ในทุกสิ่ง ด้วยเหตุนี้ มนุษย์จึงไม่อาจเข้าใจถึง ซาต (อาตมันสากล) ที่แท้จริงของพระองค์ได้
เหตุผลที่แสดงความเป็นเอกะของพระองค์ คือ หากมีพระเจ้าองค์อื่นที่นอกเหนือจากพระองค์ พระเจ้าองค์นั้นก็ต้องส่งศาสดาลงมาเหมือนกัน เพื่อแนะนำให้ประชาชนรู้จัก และภักดีต่อพระองค์
ยามที่ประชาชนทั้งหมดตกอยู่ในอันตราย พวกเขาจะมุ่งจิตไปยังสิ่ง ๆ หนึ่ง ซึ่งจิตทั้งหมดจะยืนยันว่า มีสิ่งหนึ่งสิ่งเดียวที่ให้ความหวังกับพวกเขาเมื่อยามอยู่ในอันตราย
ความสัมพันธ์กันระหว่างท้องฟ้าและพื้นดิน มวลสรรพสิ่งทั้งหลายกับมนุษย์ เป็นความสัมพันธ์ที่ละเอียดอ่อน เป็นระบบที่มีอยู่ในหมู่ของสิ่งถูกสร้างทั้งหลาย สมมติว่าท่านได้จ้างคนวาดรูป ๓ คน และได้สั่งกับคนที่หนึ่งว่า ท่านจงวาดหัวไก่ สั่งกับคนที่สองว่าท่านจงวาดตัวไก่ และสั่งกับคนที่สามว่าท่านจงวาดหาง และขาไก่ เมื่อท่านนำเอารูปภาพทั้งสามมาวางเรียงต่อกัน ท่านจะพบว่ารูปทั้งสามนั้นไม่เข้ากันเลย บางรูปอาจจะใหญ่หรือเล็กไป บางรูปอาจจะระบายสีสวยงาม ขณะที่อีกรูปอาจจะดูเลอะเทอะและเปรอะเปื้อนไปทั้งหมด
ความสัมพันธ์กันระหว่างดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ พื้นดิน น้ำ ลม ดิน ภูเขา ทะเลทราย ทะเล กับความต้องการของมนุษย์ เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงการมีพระผู้สร้างองค์เดียว มนุษย์นั้นหายใจเอาอ๊อกซิเจนเข้า และหายใจเอาคาร์บอนไดออกไซด์ออก ขณะที่ต้นไม้นำเอาคาร์บอน เหล่านั้นไปฟอกเพื่อให้เปลี่ยนเป็น ออกซิเจน ยังประโยชน์แก่สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ และมนุษย์
ความต้องการของทารกน้อย ๆ ถูกตอบสนองให้ด้วยกับความรักของบิดามารดา
ความเหน็ดเหนื่อยในตอนกลางวัน ถูกขจัดให้หมดไปด้วยการการนอนหลับพักผ่อนในตอนกลางคืน
น้ำตาถูกสร้างให้มีรสเค็ม ส่วนน้ำลายนั้นมีรสหวาน เพื่อจะใช้น้ำตาทำการชำระล้างดวงตาให้ใสสะอาด ส่วนน้ำลายช่วยในการย่อยและเป็นการเพิ่มรสชาติให้กับอาหาร
สิ่งเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นมาให้มีความเหมาะสม และสอดคล้องกันกับธรรมชาติของสรรพสิ่ง และความต้องการของมนุษย์ และยังเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า โลกนี้มีพระผู้สร้างเพียงองค์เดียว ซึ่งพระองค์นั้นทรงปรีชาญาณและทรงเดชานุภาพยิ่ง
ในสงครามญะมัล ได้มีอาหรับทะเลทรายคนหนึ่งมาหาท่านอิมามอะลี (อ.) และถามความหมายของอัต-เตาฮีด ทำให้บรรดาทหารของท่านอิมามเกิดความไม่พอใจ และกล่าวกับชายคนนั้นว่า ตอนนี้ไม่ใช่เวลาที่จะมาถามเรื่องของเตาฮีด แต่ทว่าท่านอิมามอะลี (อ.) ได้อธิบายความหมายของเตาฮีดอย่างละเอียดให้ชายผู้นั้นฟัง และได้กล่าวว่า “ก็เพราะเรื่องของเตาฮีดนี้แหละที่เราต้องทำสงครามกับศัตรู” (ตับซีรฺนูรุษษะเกาะลัยนฺ เล่มที่ ๕ หน้าที่ ๗๐๙)
แน่นอนประวัติศาสตร์อิสลามได้จารึกไว้ว่า การทำสงครามที่เกิดขึ้นในอดีตนั้นเพื่อการวางรากฐานของเตาฮีด จึงทำให้กลุ่มผู้สูญเสียผลประโยชน์ ลุกขึ้นมาต่อต้านและพาลหาเหตุก่อสงครามกับท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ครั้งแล้วครั้งเล่า
اللَّهُ الصَّمَدُ
“อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงเป็นที่พึ่ง”
หมายถึง การไม่ยอมรับอิทธิพล และการเปลี่ยนแปลง และมิใช่ทั้งความว่างเปล่า
อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงเป็นที่พึ่งนั้นหมายถึงพระองค์มิใช่วัตถุและมิได้เป็นอวัตถุ และสิ่งใดก็ตามที่เป็นวัตถุย่อมพบกับการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา และคงไว้ซึ่งความว่างเปล่า พระองค์ไม่มีดวงตาดั่งที่มนุษย์นั้นมี และไม่มีควงตาคู่ใดสามารถมองเห็นพระองค์ได้ พระองค์มิได้เป็นเหมือนสนามแม่เหล็กที่ดึงดูดเหล็กและโลหะวัตถุ แต่สรรพสิ่งทั้งหลายล้วนต้องการและพึ่งพิงไปยังพระองค์
อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงเป็น صَمَدُ หมายถึง ไม่มีอำนาจใด สามารถมีอิทธิพลเหนือพระองค์ ในทางตรงกันข้าม อำนาจของพรองค์ครอบคลุมอยู่เหนือมวลทุกสรรพสิ่ง
อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงเป็น صَمَدُ หมายถึง พระองค์ทรงเดชานุภาพ และไร้ซึ่งความว่างเปล่า ซึ่งพลังและอำนาจทั้งหลาย มาจากพระองค์ ๆ ครอบคลุมอยู่เหนือมวลทุกสรรพสิ่ง
อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงเป็น صَمَدُ หมายถึง การมีของพระองค์สมบูรณ์ และพระองค์ให้ความสมบูรณ์แก่สรรพสิ่งอื่น ขณะที่สรรพสิ่งใดต้องการไปสู่ความสมบูรณ์ ต้องพึ่งพาและวิงวอนขอความช่วยเหลือจากพระเมตตาของพระองค์ คำบัญชาของพระองค์ อยู่เหนือคำสั่ง และความต้องการทั้งหลาย พระองค์ไม่ทรงพักผ่อนและนอนหลับ ไม่ปรารถนาหุ้นส่วน และผู้ช่วยเหลือในการบริหารงาน เพราะพระองค์เป็น ที่ไม่ต้องการที่พึ่ง แต่เป็นที่พึ่งของมวลสรรพสิ่งอื่น
لَمْ يَلِدْ وَلَمْ يُولَدْ
“พระองค์มิได้ให้กำเนิดและพระองค์มิได้ถูกกำเนิด”
พระองค์ คือผู้สร้างสรรพสิ่งทั้งหลาย ซึ่งไม่ใช่การกำเนิดสิ่งเหล่านั้น ภารกิจของพระองค์มิใช่การผลิต เพื่อจะได้ผลิตสิ่งที่เหมือนกับพระองค์ แต่พระองค์ทรงอุบัติจากสิ่งที่ไม่มีให้มีขึ้นมา
มารดาได้คลอดบุตรออกจากครรภ์ ทารกน้อยคนนั้นเป็นสิ่งมีชีวิตประเภทเดียวกันกับนาง เหมือนนาง แต่สำหรับพระองค์อัลลอฮฺ (ซบ.) แล้ว ไม่มีสรรพสิ่งใดเสมอเหมือนและเทียบเคียงกับพระองค์ได้ พระองค์มิได้ให้กำเนิดสิ่งใด และมิมีสิ่งให้กำเนิดพระองค์อัล-กุรอานกล่าวว่า
لَيْسَ كَمِثْلِهِ شَيْءٌ
“ไม่มีสิ่งใดเหมือนกับพระองค์” (อัซชูรอ /๑๑)
คำพูดที่ว่า “ไม่มีสิ่งใดเหมือนกับพระองค์” เป็นคำพูดที่ขัดแย้งกับความเชื่อของคริสเตียน เนื่องจากว่า พวกเขาเชื่อว่า ท่านศาสดาอีซา (อ.) เป็นบุตรของพระเจ้า และท่านศาสดานั้นคล้ายคลึงกับพระองค์ นอกจากนั้นโองการข้างต้นยังได้ปฏิเสธความเชื่อของบรรดามุชริกีน อย่างสิ้นเชิงเช่นกัน พวกเขาเชื่อว่า บรรดามะลาอิกะฮฺนั้นเป็นบุตรของพระผู้เป็นเจ้า ขณะที่โองการยืนยันว่า พระผู้เป็นเจ้ามิได้ให้กำเนิดบุตรทั้งบุตรีและบุตรชาย และพระองค์มิได้ถูกกำเนิดมาจากสิ่งใด เพื่อที่จะได้กล่าวว่า ผู้ให้กำเนิดพระองค์มีมาก่อนและดีกว่าพระองค์
การมีอยู่ของพระองค์ มิได้เหมือนกับผลไม้ ที่เติบโตขึ้นมาจากการผสมเกษร หรือเหมือนกับต้นไม้ที่เกิดจากการเพาะเมล็ด หรือต่อกิ่ง หรือเหมือนกับน้ำฝนที่เกิดจากการไอน้ำที่รวมตัวกันของก้อนเมฆ หรือเหมือนกับคำพูดที่ออกจากปาก หรือเหมือนกับความคิดที่ออกมาจากมันสมอง พระองค์ทรงมี แต่การมีอยู่ของพระองค์ไม่เหมือนกับการมีอยู่ของสิ่งใดทั้งหมด พระองค์มิได้ทรงสถิตอยู่ในสิ่งใด และไม่มีสิ่งใดสถิตอยู่ในพระองค์ ความสัมพันธ์ของพระองค์กับสรรพสิ่ง มิได้เป็นเหมือนความสัมพันธ์ของบิดามารดาที่มีต่อบุตร แต่เป็นความสัมพันธ์ในฐานะของพระผู้สร้างที่มีต่อสิ่งถูกสร้าง
وَلَمْ يَكُن لَّهُ كُفُوًا أَحَدٌ
“และไม่มีสิ่งใดเทียบเทียงกับพระองค์”
การมีอยู่ของพระองค์ ไม่เหมือนกับสิ่งใด ไม่ว่าจะเป็นความสมบูรณ์ หรือการกระทำ พระองค์ทรงเป็นหนึ่งเดียว ที่ไม่มีสิ่งใดเทียบเคียงกับพระองค์ พระองค์มิใช่วัตถุหรืออวัตถุ จึงไม่สามารถกำหนดได้ว่าพระองค์เป็นเพศชายหรือเพศหญิง พระองค์ไม่มีคู่ครอง จึงไม่อาจกล่าวได้ว่าพระองค์มีบุตร พระองค์ไม่ทรงพึ่งสิ่งใด พระองค์จึงเป็นหนึ่งเดียวที่ไม่มีผู้ช่วยและหุ้นส่วน
มนุษย์กล้าหาญแค่ไหนถึงได้กล่าวว่า สิ่งถูกสร้างนั้นเป็นหุ้นส่วนของพระองค์ ซึ่งสิ่งนี้ถือว่าเป็นการอธรรมที่ยิ่งใหญ่ที่มนุษย์ได้ยัดเยียดให้กับพระองค์ อัล- กุรอานกล่าวว่า
“แท้จริงการตั้งภาคีเป็นอธรรมที่ใหญ่หลวงยิ่งนัก” (ลุกมาน /๑๓)
โอ้ ผู้ดำรงนมาซทั้งหลาย จงรู้ไว้เถิดว่า นิอฺมัตและความโปรดปรานต่าง ๆ ที่พระองค์ได้ประทานให้กับท่าน ไม่มีบุคคลใดมีส่วนร่วมในการประทานนั้น ภารกิจต่าง ๆ ที่ท่านได้กระทำลงไปท่านจงอย่านำเอาคนอื่นมาเป็นเป้าหมายที่นอกเหนือไปจากอัลลอฮฺ (ซบ.) ทำไมในความคิดของท่านจึงคิดที่จะเรียกร้องความสนใจจากคนอื่น ที่เหมือนกับท่านที่มีทั้งความอ่อนแอ และเป็นผู้มีความต้องการ จงเบี่ยงเบนความคิดไปยังอัลลออฮฺ (ซบ.) เถิด ซึ่งพระองค์ไม่เหมือนกับสิ่งใด และไม่มีสิ่งใดเหมือนกับพระองค์ พระองค์ไม่อ่อนแอ อีกทั้ง ๆ ไม่มีความต้องการในสิ่งอื่น ๆ
ในตอนท้ายสุดของซูเราะฮฺ อัต-เตาฮีด ได้พูดถึงความยิ่งใหญ่ของซูเราะฮฺ
พระองค์ทรงเป็นหนึ่งเดียว ทั้งในซาต (อาตมัน) และซิฟาต (คุณลักษณะ) ฉะนั้น ในการเป็น .... (ผู้ถูกทำการเคารพภักดี) ซึ่งพระองค์นั้นคู่ควรต่อการภักดี ก็เป็นหนึ่งเดียวเช่นกัน
พระองค์ไม่ต้องการที่พึ่ง แต่สรรพสิ่งทั้งหลายต้องพึ่งพระองค์ และการปราศจากที่พึ่งนั้นเป็นหนึ่งเดียว
พระองค์ไม่ได้ผลิตสิ่งใดที่เหมือนกับพระองค์ เพื่อว่าสิ่งเหล่านั้นจะได้คล้ายคลึงกับพระองค์
พระองค์ทรงเป็นปฐมเหตุและทรงเป็นนิรันดร์ มิใช่สิ่งใหม่ที่เกิดมาจากสิ่งอื่น
พระองค์ไม่มีสิ่งใดละม้ายคล้ายเหมือน ไม่มีคู่ครอง ไม่มีคู่เหมือน และไม่มีหุ้นส่วน
ซูเราะฮฺอัต-เตาฮีด ได้ตัดสายปานของการเป็นชิริกฺ (ภาคี) การหลงผิด การต่อเติมในศาสนาและความเชื่อแบบผิด ๆ ออกไปจากพระผู้เป็นเจ้า และได้นำเสนอความบริสุทธิ์ของการเป็นหนึ่งเดียวของพระองค์แก่มวลมนุษย์
ริวายะฮฺ กล่าวว่า “แท้จริงซูเราะฮฺอัต-เตาฮีดเป็นบทที่ได้แนะนำมนุษย์ ให้รู้จักพระผู้เป็นเจ้าที่ละขั้น” ดังต่อไปนี้
ขั้นที่หนึ่ง
จงประกาศเถิดว่า พระผู้เป็นเจ้าของฉัน คือ พระองค์ ผู้ซึ่งอยู่พ้นการสัมผัสด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้า อยู่พ้นญาณวิสัยของมนุษย์ และทรงอยู่พ้นจากการมองเห็นด้วยตาเนื้อ
ในขั้นตอนที่หนึ่งนี้ ความสนใจทั้งหมดอยู่ทีซาตของพระองค์ มิใช่ซิฟาต และเฉพาะซาตของพระองค์เท่านั้น ก็เพียงพอแล้ว สำหรับการเป็นที่รักและเคารพภักดี ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าว่า “ความบริสุทธิ์ใจที่สมบูรณ์ คือ การมุ่งจิตมั่นไปยังอัลลอฮฺ (ซบ.) โดยมิได้ใส่ใจต่อซิฟาตของพระองค์” (นะฮฺญุลบะลาเฆาะฮฺ คุฎบะฮฺ อัต-เตาฮีด)
จงเคารพภักดีต่อพระองค์ ด้วยเหตุที่พระองค์ คือ พระองค์ มิใช่เพราะพระองค์คือผู้ประทานนิอฺมัตและความโปรดปรานแก่เรา
ขั้นที่สอง
พระองค์ คือ อัลลอฮฺ (ซบ.) พระผู้เป็นเจ้าที่คู่ควรแก่การเคารพภักดีและเฉพาะพระองค์เท่านั้นที่มีความสมบูรณ์ครบทุกประการ
ในขั้นที่สองนี้ จะพบว่าทั้งซาตและซิฟาต ถูกกล่าวพร้อมกันด้วยกัน กล่าวคือ นั้นเป็นซาตที่มีคุณสมบัติที่ดีครบทุกประการ ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงคู่ควรแก่การเคารพภักดี
อัล-กุรอานกล่าวว่า
“พระนามอันวิจิตทั้งหลายเป็นของอัลลอฮฺ (ซบ.) ดังนั้น จงวิงวอนขอต่อพระองค์ด้วยพระนามเหล่านั้น” (อัล-อะอฺรอฟ /๑๘๐)
การรู้จักอัลลอฮฺ (ซบ.) ด้วยกับซิฟาตของพระองค์ ถือเป็นขั้นที่สอง ซึ่งคำว่า นั้น ถือเป็นศูนย์กลางที่สมบูรณ์ที่สุดของพระนามและซิฟาตเหล่านั้น
ขั้นตอนที่สาม
ٌ พระองค์ทรงเป็นเอกะที่เป็นหนึ่งเดียว ที่ไม่มีสองหรือมาจากสอง
ในขั้นตอนนี้ จะอธิบายถึงความเป็นเอกะของซาตและซิฟาต ของอัลลอฮฺ (ซบ.) อิมามมะอฺซูม (อ.) ได้อธิบายว่า ทั้งซาตและซิฟาตของพระองค์ เป็นหนึ่งเดียวกันที่ไม่มีความแตกต่าง และการมีอยู่ของทั้งสองก็เป็นหนึ่งเดียวกัน มิได้หมายความว่า การมีอยู่ของซิฟาต คือ สิ่งที่เพิ่มและนอกเหนือไปจากซาตของพระองค์
พระองค์ทรงเป็นหนึ่งเดียวที่ไม่มีสองและสาม ซึ่งคำว่า และ นั้นแตกต่างกัน เช่นถ้าเราพูดว่า “ไม่มีใครมาสักคน หมายถึง ไม่มีคนมาเลยแม้แต่คนเดียว ตรงนี้ คือ ความหมายของ “อะหัด” แต่ถ้าเราพูดว่า ไม่ได้มาคนเดียว หมายถึง อาจมาสองคนหรือมากกว่านั้น ตรงนี้ คือ ความหมายของ“วาหิด” ซึ่งอัล-กุรอานมิได้กล่าวว่า หมายถึง อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงเป็นหนึ่งเดียว ที่ไม่มีที่สองและที่สาม
ขั้นตอนที่สี่
อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงเป็นที่พึ่ง (ปราศจากความต้องการ)
ในขั้นตอนนี้ การปราศจากความต้องการ และไม่พึ่งพาสิ่งอื่นถือเป็นหัวใจสำคัญของซิฟาตและซาต ของพระผู้เป็นเจ้า และถือว่าเป็นซิฟาตที่มีความสำคัญมากของพระองค์ ซึ่งจะเห็นว่า การกล่าวว่า อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงเป็นที่พึ่งนั้น อัล-กุรอานไม่ต้องการแค่บอกข่าวกับเรา แต่ต้องการบอกว่า คือซิฟาต ที่ถาวรของพระองค์ หมายถึงว่า ซิฟาตนี้จะไม่แยกออกจากพระองค์อย่างเด็ดขาด ด้วยเหตุนี้คำว่า จึงถูกกล่าวซ้ำในประโยค เพื่อเป็นการเน้นย้ำว่าพระองค์ คือ ที่พึ่งที่แท้จริงของมวลสรรพสิ่งทั้งหลาย และทรงเป็นที่พึ่งที่ดีที่สุด
พระองค์ทรงเป็นหนึ่งเดียว และปราศจากความต้องการไปยังสรรพสิ่งอื่น ในทางตรงกันข้ามบรรดาสรรสิ่งทั้งหลายต่างหากที่มีความต้องการเพียงพระองค์
ขั้นตอนที่ห้า
พระองค์มิได้ให้กำเนิดและมิถูกกำเนิด ไม่มีสิ่งใดเทียบเคียงพระองค์ หมายถึง พระองค์ทรงเป็นصمد (ที่พึ่ง) พระองค์จึงปราศจากความต้องการบุตร จึงมิได้เป็นผู้ให้กำเนิดและไม่ต้องการบิดามารดา พระองค์จึงมิได้ถูกกำเนิด และพระองค์ยังปราศจากความต้องการในคู่ครองและผู้ช่วยเหลือในการบริหารกิจการงาน
ฉะนั้น ถ้าพระองค์กำเนิด พระองค์ก็ไม่ใช่ปฐมเหตุ และมิได้เป็นนิรันดร์ พระองค์จึงต้องสูญสลาย และถ้าพระองค์เหมือนหรือคล้ายคลึงกับสิ่งอื่น พระองค์ก็ไม่แตกต่างกับสสารหรือวัตถุที่ต้องการเวลาและสถานที่ แต่พระองค์อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงบริสุทธิ์ยิ่งกว่าสิ่งเหล่านั้น
อัล-กุรอานกล่าวว่า
“พระองค์ทรงบริสุทธิ์ยิ่งนักจากสิ่งที่พวกเขาตั้งภาคี” (อัฏฏูต /๔๓)
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น