ท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) เป็นศาสดาอีกท่านหนึ่งที่ถูกกล่าวไว้ในอัล-กุรอานโดยถูกกล่าวถึงหลังจากท่านศาสดาอาดัม (อ.) , ศาสดาอิดรีส (อ.) , ศาสดานูห์ (อ.) , ศาสดาฮูด (อ.) และศาสดาศอลีห์ (อ.) และเป็นศาสดา อูลุลอัซม์ ท่านที่สองที่นามของท่านถูกกล่าวไว้อัล-กุรอานถึง 69 ครั้ง ในซูเราะฮ์ต่าง ๆ เช่น บะเกาะเราะฮ์ , อันอาม , อิบรอฮีม , มัรยัม , อัมบิยาอ์ , อันกะบูต และศอฟฟาต โดยได้กล่าวถึงชีวประวัติที่น่าสนใจและเปี่ยมด้วยอุทาหรณ์มากมาย
ชีวประวัติของท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ก็เหมือนกับชีวประวัติของบรรดาศาสดาท่านอื่น ๆของพระผู้เป็นเจ้าที่ประกอบด้วย 4 ช่วงดังนี้ 1. ช่วงทารกจนถึงก่อนการแต่งตั้งเป็นศาสดา ซึ่งเป็นช่วงที่ท่านออกห่างและแสดงความเหนื่อยหน่ายจากพวกบูชาเจว็ด ท่านประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่ดีงามตามธรรมชาติดั้งเดิมที่มีต่อเอกานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า จนท่านถูกรู้จักในนามของผู้เป็นสุภาพบุรุษและเป็นผู้ที่มีความซื่อตรง 2.ช่วงรับตำแหน่งศาสดาและประกาศสาส์นเพื่อชี้นำมนุษยชาติ 3.ช่วงที่ท่านแสดงออกถึงความอดทนและยืนหยัดในการเผชิญหน้ากับพวกที่ทำการต่อต้าน,ขัดขวาง , เรื่องการอพยพและต่อสู้กับเหล่าศัตรู 4.ช่วงแห่งชัยชนะ ซึ่งแสดงออกถึงสัจธรรมอยู่เหนือความเป็นอธรรมและเป็นช่วงที่ประชาชนมากมายเข้าสู่การเชิญชวนของบรรดาศาสดา ท่ามกลางบรรดาศาสดาที่ผ่านมา จะเรียกท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ว่า “วีรบุรุษแห่งเอกานุภาพ” ก็เนื่องจากคุณสมบัติพิเศษต่าง ๆ ที่เจิดจรัสของท่านนั่นเอง อัล-กุรอานกล่าวถึงท่านในฐานะของ “หะนีฟ”(ผู้ที่หันเข้าสู่ความถูกต้อง)และ “คอลีล” (มิตรสนิท) และท่านคือศาสดาท่านแรกที่เข้ารับตำแหน่ง “อิมามะฮ์”หลังจากผ่านการทดสอบต่าง ๆ ของพระผู้เป็นเจ้า ต่อไปนี้จะขอกล่าวถึงช่วงต่าง ๆของชีวประวัติท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) 1. ช่วงทารกจนถึงก่อนการแต่งตั้งเป็นศาสดา อัล-กุรอานไม่ได้กล่าวถึงช่วงทารกของท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) เอาไว้ แต่จากเรื่องราวที่มีบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ , รายงานต่าง ๆ และตามคัมภีร์เตารอตและอินญีล ทำให้เรารู้ว่า บิดามารดาของท่านอาศัยอยู่แถบบาบิโลนและท่านเองก็ประสูติมา ณ. ที่แห่งนั้น ผู้ปกครองที่อธรรมในสมัยนั้นคือ “นุมรูด” ในปีที่ท่านศาสดาอิบรอฮีมประสูติ นุมรูด ได้สั่งจับเด็กทารกชายจากเผ่าของตนสังหารจนหมด เพราะมีโหรทำนายผู้หนึ่ง (อาซัร) ได้ทำนายว่าจะมีเด็กชายคนหนึ่งกำเนิดขึ้นมาแล้วจะมาล้มบัลลังก์ของเขา แต่แล้วท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ก็ประสูติออกมาโดยรอดพ้นจากสายตาของเหล่าศัตรู และท่านได้เจริญเติบโตในบ้านของ “อาซัร” ผู้เป็นหัวหน้าเผ่า และเป็นผู้กราบไหว้เจว็ด ท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) รังเกียจการกราบไหว้และบูชาเจว็ดมาโดยตลอด ท่านจะออกห่างจากประเพณีต่าง ๆ ของเผ่าของท่านเสมอ จนบางครั้งท่านได้กล่าวถึงการกราบไหว้รูปปั้นต่าง ๆ ที่ทำมาจากไม้และหินอย่างประหลาดใจยิ่งนัก รูปปั้นต่าง ๆที่ไร้ความสามารถที่จะได้ยินคำร้องขอของประชาชน อีกทั้งไม่มีผลในการสร้างประโยชน์และความเสียหายแต่อย่างใด จนกระทั่งเมื่อท่านได้ถูกแต่งตั้งจากพระผู้เป็นเจ้าให้เป็นศาสดา ท่านจึงเริ่มทำหน้าที่ประกาศสาส์นของท่าน ณ. บัดนั้น2. ช่วงประกาศสาส์นและเชิญชวน “อาซัร”สู่การภักดี ท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ก็เหมือนกับศาสดาท่านอื่น ๆ ที่เริ่มการเชิญชวนจากบ้านของตนเองก่อนเพื่อนบ้าน ท่านได้เริ่มเชิญชวนท่าน “อาซัร”(ผู้เป็นลุงหรือพ่อเลี้ยงของท่าน) ด้วยความซื่อสัตย์และเหตุผลทางปัญญาเพื่อให้รอดพ้นจากการกราบไหว้บูชารูปปั้น ดังที่มีปรากฏในอัล-กุรอานว่า : وَاذْكُرْ فِي الْكِتَابِ إِبْرَاهِيمَ إِنَّهُ كَانَ صِدِّيقًا نَبِيًّا (٤١)إِذْ قَالَ لأبِيهِ يَا أَبَتِ لِمَ تَعْبُدُ مَا لا يَسْمَعُ وَلا يُبْصِرُ وَلا يُغْنِي عَنْكَ شَيْئًا (٤٢)يَا أَبَتِ إِنِّي قَدْ جَاءَنِي مِنَ الْعِلْمِ مَا لَمْ يَأْتِكَ فَاتَّبِعْنِي أَهْدِكَ صِرَاطًا سَوِيًّا “และจงกล่าวถึง (เรื่องของ) อิบรอฮีมที่อยู่ในคัมภีร์ (อัล-กุรอาน) แท้จริงเขาเป็นผู้ซื่อสัตย์ เป็นนบี” “และจงรำลึกถึงเมื่อเขากล่าวแก่บิดา(ซึ่งเป็นลุงหรือพ่อเลี้ยง คำว่าพ่อในภาษาอาหรับบางครั้งใช้กับคนที่เคยเลี้ยงดู)ของเขาว่า “โอ้พ่อจ๋า ทำไมท่านจึงเคารพบูชาสิ่งที่ไม่ได้ยินและไม่เห็น และไม่ให้ประโยชน์อันใดแก่ท่านเลย ?” “โอ้พ่อจ๋า แท้จริงความรู้ได้มีมายังฉันแล้ว ซึ่งมิได้มีมายังท่าน ดังนั้น จงเชื่อฟังปฏิบัติตามฉันเถิด ฉันจะชี้แนะท่านสู่ทางที่ราบรื่น” (ซูเราะฮ์ มัรยัม โองการที่ 41-43) ท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ได้ประกาศสัจธรรมอันนี้แก่ท่าน “อาซัร” ที่ชีวิตหนึ่งมีทางหลัก ๆ ให้เลือกแค่สองทางเท่านั้น ทางหนึ่งคือ “การภักดีต่ออัลลอฮ์ (ซบ.)” และอีกทางหนึ่งคือ “ การปฏิบัติตามชัยฏอนมารร้าย” , การเดินตามทางแห่งแสงสว่าง หรือ ถลำลึกลงสู่ความมืดมน , การได้รับความผาสุกทั้งโลกนี้และปรโลก หรือหนทางที่ต้องประสบกับการลงโทษทั้งโลกนี้และปรโลก ท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ได้เรียกร้องเชิญชวนอย่างมีมารยาทและให้เกียรติอย่างที่สุด ท่านได้ปฏิบัติด้วยความรักและความรู้สึกห่วงใยอย่างเปี่ยมล้น ดังที่ปรากฏในโองการต่อมาว่า :يَا أَبَتِ لا تَعْبُدِ الشَّيْطَانَ إِنَّ الشَّيْطَانَ كَانَ لِلرَّحْمَنِ عَصِيًّا (٤٤)يَا أَبَتِ إِنِّي أَخَافُ أَنْ يَمَسَّكَ عَذَابٌ مِنَ الرَّحْمَنِ فَتَكُونَ لِلشَّيْطَانِ وَلِيًّا (٤٥)
โอ้พ่อจ๋า ! อย่าเคารพบูชาชัยฏอนเป็นอันขาด แท้จริงชัยฏอนนั้นมันดื้อรั้นต่อพระผู้ทรงกรุณาปรานี “โอ้พ่อจ๋า ! แท้จริง ฉันกลัวว่าการลงโทษจากพระผู้ทรงกรุณาปรานีจะประสบแก่ท่านแล้วท่านก็จะเป็นสหายของชัยฎอน (ซูเราะฮ์ มัรยัม โองการที่ 44-45) แต่ทว่าทั้งที่ท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ได้เรียกร้องเชิญชวนด้วยความห่วงใยและหวังดีอย่างที่สุด “อาซัร” ก็ไม่เลือกที่จะเดินทางแห่งการชี้นำและหนทางแห่งความผาสุกอันนี้ อีกทั้งยังขู่สัมทับท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) อีกต่างหาก ดังที่มีปรากฏในโองการต่อมาว่า :قَالَ أَرَاغِبٌ أَنْتَ عَنْ آلِهَتِي يَا إِبْرَاهِيمُ لَئِنْ لَمْ تَنْتَهِ لأرْجُمَنَّكَ وَاهْجُرْنِي مَلِيًّا “เขา (บิดา) กล่าวว่า “เจ้ารังเกียจพระเจ้าทั้งหลายของฉันกระนั้นหรือ โอ้อิบรอฮีม ! หากเจ้าไม่หยุดยั้ง (จากการตำหนิ) แน่นอนฉันจะขว้างเจ้า (ด้วยก้อนหิน) และเจ้าจงไปให้พ้นจากฉันตลอดไป” (ซูเราะฮ์ มัรยัม โองการที่ 46)
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น