นิยามที่ง่ายที่สุดสำหรับผู้คนทั่วไปที่จะรับรู้ถึงอัลกุรอานได้ก็คือเป็น คัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ เป็นคัมภีร์แห่งฟากฟ้าของศาสนาอิสลาม เป็นวะฮ์ยูแห่งพระผู้เป็นเจ้าที่มีต่อท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) นอกจากนี้ยังมีการให้นิยามอื่น ๆ ในเชิงวิชาการอีกว่า :
กุรอาน คือวะฮ์ยูที่เป็นปาฏิหาริย์แห่งพระผู้เป็นเจ้า เป็นภาษาอาหรับ ซึ่งถูกประทานลงมาในรูปแบบของคำด้วย โดยผ่านญิบรออีลที่รับมาจากพระผู้เป็นเจ้า จากเลาหุลมะฮ์ฟูซ สู่จิตอันบริสุทธิ์ของท่านศาสดามุฮัมหมัด(ศ็อลฯ) ทั้งที่ถูกประทานลงมาวาระเดียวอย่างกว้าง ๆ และทั้งที่ถูกประทานลงมาเป็นรายละเอียดในตลอดระยะเวลา 23 ปี โดยท่านศาสดาได้อ่านสิ่งนั้นให้แก่เหล่าสาวกกลุ่มหนึ่งของท่าน และมีสาวกกลุ่มหนึ่งทำการจดบันทึกวะฮ์ยู(พระวจนะแห่งพระเจ้า) โดยได้รับการดูแลตรวจสอบโดยตรงและอย่างต่อเนื่องจากท่านศาสดา(ศ็อลฯ) อีกทั้งมีเหล่าสาวกอีกจำนวนมากที่ได้ท่องจำกุรอาน โดยได้รายงานกันมาด้วยสายรายงานที่น่าเชื่อถือ (มุตะวาติร) กุรอานถูกบันทึกในสมัยท่านศาสดา (ศ็อลฯ) แต่ยังไม่ได้รวบรวมเป็นเล่ม ซึ่งต่อมาในยุคของท่านอุษมาน เขาได้ใช้เวลารวบรวมเป็นรูปเล่มนานกว่า 28 ปี โดยได้เรียบเรียงจากซูเราะฮ์อัลฟาติหะฮ์จนถึงซูเราะฮ์อันนาส รวมทั้งหมด 114 ซูเราะฮ์ เป็นตัวบทที่ศักดิ์สิทธิ์ ได้รายงานด้วยสายรายงานที่น่าเชื่อถือ โดยเป็นสิ่งดียิ่งสำหรับการอ่านคัมภีร์ ( กุรอานพะญูฮี หน้า 3 )คำว่ากุรอาน กุรอานเป็นชื่อที่ถูกรู้จักมากที่สุดในหมู่คัมภีร์แห่งฟากฟ้า ท่ามกลางนามหรือคุณลักษณะต่าง ๆ มากมายที่กล่าวถึงคัมภีร์สุดท้ายนี้ คำว่า “กุรอาน” ถูกใช้เรียกชื่อคัมภีร์มากกว่าคำอื่น ๆ ท่านศาสดา(ศ็อลฯ) หรือเหล่าสาวกไม่ได้ตั้งชื่อคัมภีร์นี้ว่ากุรอาน แต่ทว่าพระผู้เป็นเจ้าเองเป็นผู้ที่ตั้งชื่อคัมภีร์นี้ว่า “กุรอาน” คำว่า “กุรอาน” มีปรากฏในคัมภีร์ถึง 68 ครั้ง โดยมีอยู่สองครั้งที่ให้ความหมายว่า “ การนมาซ” (ซูเราะฮ์อิสรอ โองการที่ 78) ในโองการนี้คำว่า “กุรอานุลฟัจร์” ถูกกล่าวซ้ำสองครั้ง นักอรรถาธิบายกุรอานกลุ่มหนึ่งเชื่อว่ากุรอานในที่นี้หมายถึงนมาซ และ “กุรอานุลฟัจร์” หมายถึงนมาซศุบห์ (มัจมะอุลบะยาน เล่ม 2 หน้า 65) และอีกสองครั้งให้ความหมายของการอ่าน ( ซูเราะฮ์กิยามะฮ์โองการที่ 17 และ 18) ส่วนกรณีที่เหลือบ่งชี้ถึงคัมภีร์แห่งอัลลอฮ์ (ซบ.) ระหว่างนักอรรถาธิบายกุรอานและนักวิชาการอิสลาม มีทัศนะที่แตกต่างกันเกี่ยวกับเรื่องของการอ่านออกเสียง รากศัพท์ รวมทั้งความหมายของคำนี้ บ้างก็เชื่อว่า กุรอาน มาจากรากศัพท์ของคำว่า “กอร่อนะ” หมายถึง “การรวบรวม” บ้างก็เชื่อว่า รากศัพท์มาจากคำว่า “กอร่ออะ”หมายถึงสิ่งถูกอ่าน ซึ่งโดยทั่วไปความหมายของรากศัพท์จะให้ความหมายของกรรม อิมามชาฟิอี ถือว่า กุรอาน ไม่ได้แตกออกมาจากรากศัพท์ใด ๆ เลย เป็นชื่อเฉพาะ กล่าวคือ ชื่อนี้ เป็นคำแรกที่ใช้สำหรับคัมภีร์เล่มนี้ โดยไม่เคยมีความหมายใดมาก่อนเลย ( ตะอ์รีเคกุรอาน ของท่านรอมยอร หน้า 16) นามของกุรอานที่ถูกรู้จักรองลงมา ได้แก่ ฟุรกอน กิตาบ ซิกร์ และฮิกมะฮ์และยังมีอีกกว่า 80 ชื่อ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นลักษณะนามของอัลกุรอาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น